กรุงเทพฯ 21 มี.ค. – ส่องต้นทุนค่าไฟฟ้า ฟันธงมีแนวโน้มขยับขึ้น ทั้งจากต้นทุนราคาก๊าซ ค่าไฟอุดหนุนพลังงานทดแทน การหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซยาดานา รณรงค์ “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน” ลุ้นใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าแผนค่าไฟฟ้าจะขึ้นน้อย
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.) แม้แนวโน้มจะปรับขึ้นจากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ ย้อนหลัง 6-12 เดือนที่ขยับขึ้น การอุดหนุนค่าไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีมากกว่า 9,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น จะขยับขึ้นมากกว่าอัตราเดิมที่ 21 สตางค์/หน่วย แต่ขณะนี้รอดูว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่ามากขึ้นเพียงใด รวมถึงการใช้ไฟฟ้าจะต่ำกว่าประมาณการหรือไม่ หากต่ำกว่าการใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาสูงมาผลิตไฟฟ้า เช่น น้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะช่วงที่ ก๊าซฯ จากเมียนมาร์หยุดจ่าย เพราะแหล่งก๊าซยาดาปิดซ่อม หากใช้น้ำมันน้อยกว่าแผนต้นทุนจะต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ว่าจะมีผลต่อค่าไฟฟ้า 0.55 บาท/หน่วย ซึ่งล่าสุดจากการดำเนินมาตรการ Demand Response หรือ DR เพื่อให้ภาคเอกชนลดการใช้พลังงานลงด้วยความสมัครใจ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชย 3 บาท/หน่วย มีเอกชนสมัครเข้าร่วม 151 เมกะวัตต์ ก็ช่วยลดต้นทุนไปได้ 0.14 สตางค์/หน่วย
ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2560 อยู่ที่ -37.29 สตางค์/หน่วย ลดลงจากงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2559 จำนวน 4 สตางค์/หน่วย
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แหล่งยาดาปิดซ่อมบำรุงวันที่ 25 มีนาคม – 2 เมษายนนี้ ก๊าซฯ หายไป 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ถือเป็นช่วง 9 วันอันตราย ซึ่งกระทรวงฯ เตรียมความพร้อมเต็มที่ โดยเฉพาะด้านการผลิตไฟฟ้าในประเทศให้เพียงพอ เพื่อป้องกันปัญหาไฟฟ้าตก ดับ และกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงหน้าร้อนจะเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีคปีนี้ 32,059 เมกะวัตต์ ดังนั้น เพื่อลดพีค กระทรวงพลังงานขอรณรงค์ทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดไฟฟ้าผ่านมาตรการง่าย ๆ ด้วยมาตรการ “ปิด,ปรับ,ปลด,เปลี่ยน” เช่น การปิดดวงไฟที่ไม่ใช้ การปรับแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศา การเปลี่ยนมาใช้หลอด LED เป็นต้น
นายวีระพล กล่าวเสริมว่า การเตรียมความพร้อมรองรับการใช้ไฟฟ้าหน้าร้อน กกพ.ได้พัฒนาการรายงานข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer: VSPP) โดยมีเป้าหมายให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายงานข้อมูลการผลิตได้
นายเริงชัย คงทอง ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในส่วนของแผนการรองรับการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาดังกล่าว กฟผ.จะบริหารจัดการ โดยการปรับเปลี่ยนการเดินเครื่องโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas : LNG) เพิ่มเป็น 1,100 ล้านลูกบาศ์กฟุต/วัน เพื่อทดแทนผสมกับก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยให้แก่โรงไฟฟ้าในภาคกลางและภาคตะวันออก รวมทั้งการซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่มีข้อจำกัดการปล่อยน้ำ โดยบางส่วนมีความจำเป็นผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาประมาณ 102 ล้านลิตรทดแทน ที่โรงไฟฟ้าราชบุรีและโรงไฟฟ้าบางปะกง และส่วนที่เหลือจะผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซล 13.9 ล้านลิตรทดแทน ที่โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้และโรงไฟฟ้าราชบุรี รวมทั้งโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1. – สำนักข่าวไทย