นายกฯ สั่งตั้งอนุกรรมการดูแล 5 สินค้าเกษตร

กรุงเทพฯ  20 มี.ค. – นายกรัฐมนตรีสั่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อน 5 สินค้าเกษตร  กระทรวงเกษตรฯ เรียกประชุมทูตเกษตรทั่วโลกรับนโยบายลุยแผนเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรไทย


พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฎิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) วันนี้ (20 มี.ค.)  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์เสนอหลักการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรยุทธศาสตร์ 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว มันสัมปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการ พร้อมสั่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อน 5 สินค้าเกษตรยุทธศาสตร์ ภายใต้ ป.ย.ป.ขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหาภาพรวมทั้งระบบ โดยจะมีรองนายกรัฐมนตรีดูแล 

ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแก้ไข 3 สินค้า คือ ข้าว ยางพาราและข้าวโพด มียุทธศาสตร์ที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการเน้นการทำเกษตรแปลงใหญ่ที่หลายหน่วยงานจะต้องทำงานร่วมกันและมีงบประมาณเพิ่ม โดยเฉพาะข้าวโพดปัจจุบันมีปัญหาปลูกบนพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องหรือบุกรุกป่า จึงเสนอให้ปลูกในนาแทนการปลูกข้าวรอบ 2 รอบ 3 โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 3.3 ล้านไร่ จากพื้นที่เหมาะสมที่จะรองรับได้ทั้งหมด 17 ล้านไร่ ซึ่งผลผลิตจะพอเพียงกับความต้องการในประเทศที่มียอดถึงปีละ 4.6 ล้านตัน จากพื้นที่ปลูกรวมกว่า 7 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ร้อยละ 52 เป็นการปลูกในพื้นที่ที่เป็นการบุกรุกป่าหรือไม่ถูกต้อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะหารือกันต่อไป หากเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำระดับ 1 ระดับ 2 จะไม่สามารถเข้าไปทำการเกษตรได้เลย แต่หากเป็นแหล่งน้ำระดับ 4 ระดับ 5 ขึ้นกับการพิจารณาของกระทรัพย์ฯ ว่าจะอนุญาตหรือไม่ต่อไป ข้อเสนอที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอวันนี้หากจะดำเนินการปีนี้จะต้องมีงบประมาณรองรับ ด้านยางพาราจะผลักดันให้มีการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น ลดพื้นที่ปลูกยางพาราที่ต้นหมดอายุลงพร้อมปรับเปลี่ยนนำพันธุ์ดีปลูกแทนในพื้นที่ที่เหมาะสม  ส่วนมันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้เสนอ โดยจะแก้ปัญหาปัจจุบันและระยะยาวและมีการกำหนดในรายละเอียดต่อไป 


พลเอกฉัตรชัย ยังมอบนโยบายทูตเกษตรต่างประเทศในการประชุมเชิงปฎิบัติการเรื่อง “การขับเคลื่อนภารกิจด้านการเกษตรต่างประเทศภายใต้นโยบาย 4.0”  ว่า กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ไขอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตรที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบรวมถึงปัญหาอุปสรรคทางด้านการค้าที่มิใช่ภาษี ปัญหาข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช รวมถึงการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่มีความรุนแรงและความเข้มข้นมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งด้านการค้า การลงทุน การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรฯ ระยะ  5 ปี 

สำหรับสิ่งที่เน้นย้ำทูตเกษตร  3 ส่วนหลัก คือ 1.การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย โดยเฉพาะการเน้นย้ำยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทย 2. การคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ ประเด็นปัญหา อุปสรรค แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรแต่ละประเทศกลับมายังกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อกำหนดแผนการเจาจาหรือปรับกลยุทธ์ให้สินค้าเกษตรไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมากขึ้น  3.การประชาสัมพันธ์ แนะนำสินค้าเกษตรตัวใหม่ ๆ ให้ผู้บริโภคต่างประเทศรู้จัก เช่น มะยงชิด ที่ประเทศอินโดนีเซียให้ความสนใจ เป็นต้น  

ส่วนเป้าหมายการเรียกประชุมทูตเกษตรที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร จะร่วมกำหนดแนวทางกรอบการดำเนินงานและพร้อมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมไปในทิศทางเดียวกัน  เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และเศรษฐกิจฐานรากของไทย  เนื่องจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ในต่างประเทศจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสืบค้นข้อมูลเชิงลึก และรายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวด้านนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรของประเทศคู่ค้าที่จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรไทย  รวมถึงความเคลื่อนไหวของประเทศคู่แข่งทางการค้าสินค้าเกษตรของไทยในประเทศเป้าหมายต่าง ๆ ทำให้ไทยสามารถเตรียมการรองรับและบรรเทาผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อการผลิตสินค้าเกษตรของไทยที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจาก นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของประเทศคู่ค้า รวมถึงการเจรจาและติดตามการแก้ไขปัญหา  และอำนวยความสะดวกทางการสินค้าเกษตรของไทยในประเทศที่ประจำการที่สำคัญของไทย เช่น สหรัฐ  ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น รวมทั้งดำเนินการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น และแสวงหาตลาดใหม่ โดยปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่ไทยสามารถเปิดตลาดสินค้าเกษตรได้ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น  การเปิดตลาดมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย และน้ำดอกไม้ไปยังประเทศญี่ปุ่น การส่งออกไก่สดไปเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา IUU กับสหภาพยุโรป (อียู).-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

คุมฝากขัง “เอ็ม เอกชาติ” คดี “แบงค์ เลสเตอร์”

ผบช.ภ.2 เผยคดี “แบงค์ เลสเตอร์” แจ้งข้อหา “เอ็ม” กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มอบตัวรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา คุมฝากขังค้านประกันตัว

หยุดยาววันแรก การจราจรขาออก กทม. มุ่งสู่อีสานเริ่มแน่น

เริ่มหยุดยาววันแรก การจราจรบนท้องถนนขาออกกรุงเทพฯ มุ่งสู่อีสานเริ่มแน่นตั้งแต่เมื่อคืน เช้านี้ ถนนมิตรภาพ ช่วง ต.กลางดง อ.ปากช่อง ชะลอเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆ ส่วนถนนพหลโยธิน ขาเข้าหนองแค รถเริ่มแน่น

วันแรก ตาย 52 อุบัติเหตุ 322 ครั้ง บาดเจ็บ 318 คน

สถิติวันแรก 10 วันอันตราย ตาย 52 อุบัติเหตุ 322 ครั้ง บาดเจ็บ 318 คน​ “เพิ่มพูน” เน้นทุกฝ่ายช่วยกันดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวก เข้มเรื่องกฎหมาย