ทำเนียบฯ 21 ธ.ค.- นายกรัฐมนตรีเตรียมลงพื้นที่จังหวัดน่านติดตามการแก้ไขปัญหาป่าต้นน้ำ แนวทางการจัดการที่ดิน และการพัฒนาเมืองน่านอย่างยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการตรวจเยี่ยมจังหวัดน่าน ในวันที่ 23 ธันวาคม 2559 โดยมีกำหนดการออกเดินทางเวลา 07.00 น.จากกองการบิน ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก ดอนเมือง
นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ จะเดินทางไปยังบริเวณจุดชมวิวบ้านน้ำป้าก หมู่ 7 ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา ในเวลาประมาณ 09.40 น.เพื่อรับฟังบรรยายสรุปเรื่อง “โครงการปลูกป่าสร้างคน บนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย จังหวัดน่าน” จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยนายณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานสักขีพยาน ในพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป.ส.23) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นผู้มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เพื่อนำไปมอบต่อให้กับราษฎรบ้านน้ำป้าก ห้วยธนู ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา และราษฎรบ้านน้ำมีด ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะพบปะ กล่าวทักทายประชาชนที่มาให้การต้อนรับ
เวลา 13.00 น. นายกรัฐมนตรี พบปะผู้นำชุมชน ณ บ้านห้วยส้มป่อย อำเภอเมือง พูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเมืองน่านในมิติต่างๆ อย่างยั่งยืน ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะเดินทางไปกราบนมัสการพระพุทธมหาพรหมอุดมสักยมุนี พระประธานจตุรพักตร์ในวิหารหลวง วัดภูมินทร์ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร เวลา 16.00 น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการตรวจเยี่ยมจังหวัดน่านในครั้งนี้เพื่อติดตามการแก้ปัญหาพื้นที่ป่าต้นน้ำของจังหวัดน่าน ซึ่งกำลังถูกทำลายและส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพื้นที่ใต้ลุ่มน้ำน่าน รวมถึงภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร (แม่น้ำเจ้าพระยาร้อยละ 40 มาจากป่าต้นน้ำน่าน) ปัจจุบันป่าน่านถูกทำลายเพิ่มขึ้น 17.9 % เมื่อเทียบจากปี 2545 ถึงปี 2558 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้ ปัญหาป่าต้นน้ำน่าน เป็นปัญหาสำคัญด้านความมั่นคงของทรัพยากรธรรมชาติ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ของภูมิภาคโดยรวม รวมถึงวิถีชีวิตของชาวน่าน
นายกรัฐมนตรี จะติดตามแนวทางการจัดการที่ดิน การป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงการบุกรุกที่ดิน เช่น การตัดไม้ยางพาราในพื้นที่ การบุกรุกที่ดินป่าไม้ โดยเฉพาะสวนยางพาราที่มีเจ้าของเป็นนายทุน และผู้มีอิทธิพล พร้อมติดตามความเข้มแข็งการรวมตัวของชุมชนท้องถิ่นน่านเพื่อปกป้องน่าน ในมิติต่าง ๆ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การท่องเที่ยว วิถีชีวิต และการพัฒนาเศรษฐกิจ
รับฟังแนวทางการท่องเที่ยวน่านอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มความหลากหลายของรูปแบบการให้บริการและการท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยส่งเสริมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ และให้คนในพื้นที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวมากขึ้น เน้นเรื่องการบริหารจัดการ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน การให้บริการนักท่องเที่ยว ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการบริหารจัดการชุมชน ตามวิสัยทัศน์ว่า “เมืองแห่งความสุข เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธรรมชาติสมบูรณ์ การเกษตรมั่งคั่ง ชุมชนเข้มแข็ง ท่องเที่ยวยั่งยืน”.-สำนักข่าวไทย