กระทรวงกลาโหม 22ธ.ค.-รมช.กลาโหมประชุมผู้แทนพิเศษรัฐบาลตามงานแก้ปัญหาไม่สงบใต้ สัญญาณเริ่มดี ประชาชนในพื้นที่เข้าใจ ร่วมมือมากขึ้น เตรียมเสนอโรดแมปให้ประธานคปต.พรุ่งนี้
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานประชุมผู้แทนพิเศษของรัฐบาลครั้งที่ 4 โดยมี พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) พล.ต.ต.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้(ผบช.ศชต)เข้าร่วมประชุมด้วย
ภายหลังการประชุม นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขานุการคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล พร้อมด้วย พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้ากลุ่มงานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธิ พล.อ.ปราการ ชลยุทธ หัวหน้ากลุ่มงานรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน พล.อ.สุทัศน์ จารุมณี หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(คปต.) ส่วนหน้าร่วมกันแถลง โดยนายภาณุ กล่าวว่า พล.อ.อุดมเดช ได้เสนอแนะให้จัดอนุกรรมการขับเคลื่อนสามเหลี่ยมเศรษฐกิจมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในระดับจังหวัด
“ที่ประชุมรับทราบโรดแมปการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่นายกรัฐมตรีและหัวหน้าคสช.ได้สั่งการให้ผู้แทนพิเศษจัดทำขึ้นและเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา และในวันพรุ่งนี้(23 ธ.ค.) จะเสนอพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะประธานคปต. พิจารณารายละเอียดและอนุมัติ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป” นายภาณุ กล่าว
พล.อ.สุทัศน์ กล่าวว่า โรดแมปแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการกระชับและบูรณาการแผนงานโครงการ โดยเน้นใน 3 ด้าน คือความมั่นคง การพัฒนาและทำความเข้าใจประชาชน มุ่งให้แผนงานและโครงการครอบคลุมทุกพื้นที่และมีความเข้มข้นในระดับชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนในพื้นที่
ขณะ พล.อ.อุดมชัย กล่าวว่า การทำงานคืบหน้างานหลัก 2 ด้าน คือการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการและการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพูดคุยและการสร้างความสงบเรียบร้อย เชื่อมั่นว่าเริ่มมีสัญญาณที่ดีจากคนในพื้นที่ เนื่องจากการแสดงออกในลักษณะต่อต้านและขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ลดลง เชื่อว่าน่าจะมีข่าวดีให้ประชาชนได้เห็นถึงความสงบเรียบร้อยที่จะมาแทนที่ความไม่สงบที่ผ่านมา
ส่วนพล.อ.ปราการ กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่อยู่ในช่วงการถ่ายโอนจากทหารไปยังประชาชนหรือประชาชนกึ่งทหาร โดยตั้งแต่ปี 2556 ได้ตั้งชุดคุ้มครองตำบลขึ้นในพื้นที่ได้ร้อยละ 80 เหลืออีกร้อยละ20 ที่ต้องฝึกเพิ่ม ส่วนการแก้ปัญหายาเสพติดได้จัดตั้งหมู่บ้านต้นแบบ ชุมชนเข้มแข็งแล้ว 300 หมู่บ้าน 20 ตำบล และมีแผนสร้างหมู่บ้านต้นแบบอีก 200 หมู่บ้าน โดยใช้จิตอาสาในพื้นที่ 400 คน ทำความเข้าใจและอธิบายถึงโทษภัยยาเสพติดแก่ประชาชนในพื้นที่.-สำนักข่าวไทย