กรุงเทพฯ 13 ธ.ค. – นายกฯกำชับดูแลขายประกันผ่านเคาน์เตอร์ ทำประกันควบการขอกู้ โทร.ขายประกันเช้ายันเย็น และเห็นชอบแก้ไข พ.ร.บ.ประกันภัย ประกันวินาศภัย เพิ่มโทษการฉ้อฉล
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ซึ่งได้คับใช้มาแล้ว 20 ปี และได้มีการแก้ไขแล้ว 2 ครั้ง ดังนั้นเพื่อคุ้มครองผู้เอาประกัน บริษัทเอกชนจากการฉ้อฉล การใช้ระบบออนไลน์ขายประกัน จึงต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม เช่น ป้องการฉ้อฉล จากการหลอกลวงทำประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ชาวบ้านจ่ายเบี้ยประกันแต่ตัวแทนไม่ได้ส่งเงินชำระให้กับบริษัทประกัน จึงถือว่าเป็นการหลอกหลวง รวมทั้งการสร้างเอกสารหลักฐานเท็จ เพื่อเบิกสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันในการเรียกรับผลประโยชน์ เช่น ไม่ได้ป่วย แต่นำหลักฐานยา การรักษามาเบิกเงินประกัน และการแก้ไขเกี่ยวกับการทำหลักฐานจากตัวแทนนายหน้า เพื่อรับสินไหมแล้วนำเงินมาแบ่งกับผู้เอาประกันถือว่ามีวามผิด โดยความผิดดังกล่าวในระบบประกันที่ผ่านมาถือว่าการยอมความ เมื่อชดเชยเงินคืนให้ถือว่าคดีส้ินสุดลง แต่ได้แก้ไขให้เจ้าพนักงาน คปภ.เป็นเจ้าทุกข์แจ้งความดำเนินคดี แม้จะมีการยอมความ เพื่อไม่ให้เอาเป็นแบบอย่างหรือมีคดีเกิดขึ้นอีก
การกำกับดูแลระบบคนกลาง หรือตัวแทนนายหน้าขายประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ในปัจจุบันมีจำนวน 3 แสนคน จากเดิมบริษัทประกันชีวิต ประกันวินาศภัยออกข้อกำหนดกำกับดูแลเครือข่าย เปลี่ยนเป็น คปภ.ออกข้อกำหนดกำกับดูแลนายหน้าทั้งระบบโดยตรง รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติการเป็นนายหน้าขายประกัน โดยต้องไม่มีประวัติเสียหายในการ
กระทำความผิดเรียกค่าสินไหม ไม่แสดงการขาดความรอบคอบ โดยจะกำหนดจรรยาบรรณของนายหน้านำไปปฏิบัติ นอกจากนี้ยังแก้ไขเรื่องการประเมินความเสียหายในการเรียกรับสินไหมทดแทน จากเดิมเปิดให้บุคคลทั่วไปทำหน้าที่ประเมินความเสียหายได้ จากนี้ไปกำหนดให้บุคคลทั่วไปต้องสังกัดในนิติบุคคลของบริษัทประกัน เพื่อสร้างระบบประเมินความเสียหายให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการซื้อขายประกันผ่านระบบออนไลน์ ต้องดำเนินการตามประกาศ คปภ.
นายกรัฐมนตรีกำชับในที่ประชุม ครม. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการควบคุมดูแลการขายประกันควบคู่กับการขอสินเชื่อ การขายประกันผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร รวมทั้งการโทรศัพท์ขายประกันทั้งรอบเช้า บ่าย เย็น จนสร้างความลำคาญกับประชาชนทั่วไป เพื่อพิจารณาว่าควรกำหนดไว้ในจรรยาบรรณหรือประกาศเป็นข้อบังคับ.-สำนักข่าวไทย