กรุงเทพฯ 5 ม.ค. – บอร์ด รฟม.ไฟเขียวจ้างวิธิพิเศษบีอีเอ็มเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ปรับลดวงเงินติดตั้งระบบลง 15 ล้านบาท พร้อมอนุมัติก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก แต่ชะลอสร้าง 2 สถานี เหตุทับซ้อนสายสีแดง
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า วันนี้ (5 ม.ค.) คณะกรรมการ รฟม.เห็นชอบให้ใช้วิธีพิเศษว่าจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม เดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้เร่งรัดการแก้ปัญหาการเชื่อมต่อการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสายสีน้ำเงิน ส่วนสาเหตุต้องจ้างวิธีพิเศษและเจรจากับรายเดิม เนื่องจากการเดินรถต้องใช้ระบบพลังงานไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมการเดินรถของรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที และปรับลดกรอบราคากลางติดตั้งระบบเดินรถ 1 สถานี ลง 15 ล้านบาท จาก 693 ล้านบาท เป็น 678 ล้านบาท เนื่องจากระยะเวลาดำเนินการลดลง จากเดิม 12-15 เดือน ส่วนค่าเดินรถที่จะจ่ายให้บีอีเอ็มประมาณ 52 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งคณะกรรมการจัดจ้างวิธีพิเศษ 1 ชุด โดยมีรองผู้ว่าฯ รฟม.เป็นประธานเจรจารายละเอียดกับบีอีเอ็ม เพื่อต่อรองราคาการติดตั้งระบบ ขอบเขตงานการเดินรถ ระยะเวลาการดำเนินการ รวมทั้งจัดทำร่างสัญญาว่าจ้าง เจรจาให้ได้ข้อสรุปและนำเสนอบอร์ดภายในวันที่ 18 มกราคมนี้ จากนั้นจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมเห็นชอบ คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุบัติปลายเดือนกุมภาพันธ์และลงนามในสัญญาว่าจ้างประมาณต้นเดือนมีนาคม คาดว่าเดือนสิงหาคมนี้จะเปิดทดลองเดินรถได้ ส่วนร่างสัญญาว่าจ้างจะต้องส่งให้อัยการพิจารณา ซึ่ง คสช.เร่งรัดให้อัยการพิจารณาร่างให้เสร็จภายใน 30 วัน
ส่วนการเจรจาเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง -บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระนั้น ได้ข้อสรุป เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมาเสนอผลการเจรจาให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ( สคร.) และเสนอร่างสัญญาให้อัยการพิจารณาและเสนอเรื่องเข้าไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว คาดว่าจะนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติภายใน 90 วัน
นายพีระยุทธ กล่าวว่า คณะกรรมการยังอนุมัติให้ รฟม.ดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-ตลิ่งชัน โดยขณะนี้ได้ข้อสรุปร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่า รฟม.ชะลอการก่อสร้างเส้นทางช่วงจากสถานีบางขุนนนท์-ตลิ่งชันไปก่อน 2 สถานี หรือประมาณ 3.5 กิโลเมตรออกไปก่อน เนื่องจากเส้นทางทับซ้อนกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำให้วงเงินก่อสร้างในส่วนของงานโยธาปรับลดลงจากเดิม 7,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 90,000 ล้านบาท โดยจะต้องนำข้อสรุปเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาและเสนอ ครม.ไม่เกินเดือนเมษายน จากนั้นจะประกวดราคาประมาณเดือนกรกฎาคม และลงนามสัญญาว่าจ้างประมาณปลายเดือนธันวาคม 2560 หรือต้นเดือนมกราคม 2561 นอกจากนี้จะต้องนำเรื่องการชะลอการก่อสร้างเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) รับทราบเดือนมกราคมนี้
ส่วนงานระบบอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด คาดเริ่มก่อสร้างต้นปี 2561 และเปิดเดินรถตามแผนปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567 เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ก่อสร้างยาก เพราะเป็นเส้นทางใต้ดินโดยเฉพาะจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยไปยังศิริราชและบางขุนนท์ ซึ่งต้องผ่านเกาะกรุง ทำให้เบื้องต้น รฟม.ต้องเตรียมงบประมาณการก่อสร้างไว้เผื่อ เนื่องจากมีประสบการณ์จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สำหรับความคืบหน้าการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี 6 สัญญาอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองราคา ซึ่งขณะนี้เจรจาไปเพียง 1 รอบเท่านั้น ส่วนความคืบหน้าการเปิดประมูลระบบการบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทางทั้งฝั่งตะวันตกและออกอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบคาดว่าจะเสนอผลการศึกษาให้บอร์ด รฟม.พิจารณาช่วงต้นปีนี้ โดยจะต้องเร่งจัดหาผู้เดินรถให้เร็ว เนื่องจากมีการเปิดประมูลงานก่อสร้างโยธาไปแล้วและไม่ต้องการให้เกิดปัญหาการเดินรถเหมือนกับสายสีน้ำเงินในปัจจุบัน.-สำนักข่าวไทย