ก.อุตฯ 13 มี.ค. – กรศ.เตรียมเสนอเร่งพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-รถไฟความเร็วสูง-รถไฟรางคู่ ให้คณะกรรมการนโยบาย EEC 5 เม.ย.นี้ ด้านกระทรวงอุตฯ เตรียมชงแพ็คเก็จดึงดูดโครงการผลิตรถไฟฟ้าให้ ครม.พิจารณา 28 มี.ค.นี้
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กรศ.มีมติเร่งดำเนิน 2 โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC จาก 5 โครงการหลัก สำหรับโครงการที่เร่ง คือ โครงการลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และ โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง โดยจะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกชุดใหญ่ ที่มีพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะลงพื้นที่และประชุมให้ความเห็นชอบวันที่ 5 เมษายนนี้
นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีโครงการ EECD เขตอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่บนพื้นที่ 621 ไร่ ที่ศรีราชาของ CAT Telecom สอดรับกับกิจกรรมของ EEC และชวนต่างชาติรายใหญ่เข้าร่วมด้วย โดยอยู่ระหว่างการเจรจาและจะรายงานความคืบหน้าในการประชุม กรศ.ต่อไป จะมีงบลงทุนจากรัฐในโครงสร้างพื้นฐาน 20,000 ล้านบาท และการลงทุนจากเอกชน 68,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุน EECI ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างหาพื้นที่และยังไม่ทราบงบประมาณที่จะดำเนินการ โดยจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม หุ่นยนต์อุตสาหกรรม เกษตรแปรรูปที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี คาดว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ- ระยอง จะประกาศทีโออาร์ก่อนกลางปีนี้และพยายามให้มีการเปิดประมูลภายในปีนี้แน่นอน โดยขณะนี้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ผ่านความเห็นชอบแล้ว ส่วนโครงการร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมอัจฉริยะระหว่างการบินไทยและบริษัทแอร์บัส ซึ่งบริษัทการบินไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO Complex Development) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นจุดเริ่มต้นเกิดศูนย์กลางของการบินทั้งหมด ซึ่งกองทัพเรือจัดทำแผนพัฒนาทั้งหมดให้เป็นมหานครแห่งการบินต่อไป โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมร่วม เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมสนับสนุน
นอกจากนี้ ในพื้นที่ EEC ยังจะเป็นที่ลงทุนโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ด้วย โดยวันที่ 28 มีนาคมนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอชุดมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ EV ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบและยังจะต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร เกษตรเชิงนิเวศ สิ่งเหล่านี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้รับผิดชอบและกำหนดแผนการอย่างชัดเจน ดังนั้น ปลายปีนี้จะเห็นภาพการพัฒนา EEC ที่ชัดเจน ขณะเดียวกันยังขอให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เข้ามาร่วมด้วย เพื่อรองรับด้านการท่องเที่ยวและเมืองใหม่ที่ฉะเชิงเทรา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะนำเสนอในการประชุมวันที่ 5 เมษายนนี้เช่นกัน
สำหรับ 5 โครงการลงทุนหลักที่จะพัฒนาใน EEC ประกอบด้วย โครงการสนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ ท่าเรือแหลมฉบัง การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่หรือ New-S curve และการพัฒนาเมืองใหม่มาเป็นโครงการนำร่อง เพราะเป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วนและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนถึงความสำเร็จของ EEC ที่ประชุม กรศ.ขอให้ทั้ง 2 โครงการพิจารณาความเชื่อมโยงกับโครงการต่าง ๆ EEC ด้วย เช่น เชื่อมโยงต่อยอดกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า 2 โครงการที่เร่งในส่วนของโครงการลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจะพัฒนาให้สามารถเชื่อมโยงสนับสนุนอีก 2 สนามบิน คือ สนามบินอู่ตะเภา สนามบินเดือนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมจัดตั้งเมืองการบินภาคตะวันออก ในพื้นที่ 6,500 ไร่ ของสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นเขต EEC แห่งแรกที่ได้รับการผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยจะศึกษาการจัดทำทางวิ่งมาตรฐานที่ 2 จากปัจจุบันที่มีทางวิ่งเพียง 1 ทางวิ่ง โดยมีกลุ่มกิจกรรม 5 กลุ่มกิจกรรมหลัก คือ กลุ่มอาคารผู้โดยสารและการค้า เพื่อรองรับผู้โดยสาร 15-30-50 ล้านคนในระยะ 5-10-15 ปี กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน ลักษณะเขตการค้าเสรี เพื่อประกอบอุตสาหกรรมและการค้าเชื่อมโยงกับสนามบิน กลุ่มธุรกิจขนส่งทางอากาศ ทั้งคาร์โก้ สินค้าทางไปรษณีย์ และคลังสินค้าเทคโนโลยีสูง กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบิน เพิ่มจากศูนย์ซ่อมของการบินไทยในปัจจุบัน และกลุ่มศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรอากาศยานและธุรกิจการบิน ในอนาคตอาจมีการพิจารณา เพิ่มอีก 3 โครงการ คือ ธุรกิจท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้าน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กรศ.ยังให้เร่งรัดให้เกิดขึ้นภายในช่วงปลายปีนี้ อีก 3 เรื่องคือ โครงการร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมอัจฉริยะระหว่างการบินไทยและบริษัทแอร์บัส และการการศึกษาการลงทุนเพื่อจัดทำเอกสารชี้ชวนการลงทุน และการจัดทำระเบียบเอกชนร่วมทุนหรือ PPP ที่จะลดระยะเวลาดำเนินการในพื้นที่ EEC คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนนับจากนี้ไป
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ โดยโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงประมาณ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง จะเชื่อม 3 สนามบินเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ทำให้เมืองการบินภาคตะวันออกได้ประโยชน์สูงสุด ผู้โดยสารใช้เวลาเดินทางไปมาทั้ง 3 สนามบินไม่เกิน 1 ชั่วโมงระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร ซึ่ง กรศ.มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงคมนาคมไปศึกษาเพิ่มและเสนอให้คณะกรรมการนโยบาย EEC พิจารณาต่อไป กรศ.ยังเห็นว่านอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว ขอให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.) ไปทำการศึกษาเรื่องการพัฒนาคนและรับฟังความคิดเห็นถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ควรได้รับ และ กรศ.ที่ออกมาโดย ม.44 จะต้องมีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน.-สำนักข่าวไทย