กรุงเทพฯ 13 มี.ค.-ผอ.พศ. ส่งเอกสารหลักฐานเอาผิดพระธัมมชโยถึงเจ้าคณะใหญ่หนกลางเย็นนี้ ไม่กังวลวัดพระธรรมกายเกิดลัทธิใหม่หลังไร้ผู้นำ ชี้มีผู้ทรงอำนาจทางสงฆ์ควบคุมดูแล
ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. และนายกนก แสนประเสริฐ รอง ผอ.พศ. เปิดเผยความคืบหน้ากรณีพระธัมมชโย ภายหลังการประชุม มส. เมื่อ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา และได้กราบทูลสมเด็จพระสังฆราช และกรรมการ มส. เรื่องการถอดถอนพระธัมมชโย และพระทัตตชีโว ออกจากสมณศักดิ์ ซึ่งที่ประชุม มส. ได้รับทราบเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งทำหนังสือขอให้ใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ข้อ 3 (1) กรณีพระภิกษุประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องพระธรรมวินัยของพระธัมมชโย ต่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง
เบื้องต้น ผอ.พศ. แจ้งว่าได้เซ็นเอกสารหลักฐานทางคดีที่ได้รับมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. และให้เจ้าหน้าที่นำเอกสารหลักฐานทั้งหมดส่งไปให้เจ้าคณะใหญ่หนกลางในช่วงเย็นวันนี้ เพื่อดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนทางสงฆ์ ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าพระธัมมชโยอาบัติปาราชิกนั้น ผอ.พศ. ย้ำว่าในการแถลงข่าวภายหลังการประชุม มส. ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการอาบัติปาราชิก เนื่องจากที่ประชุม มส. ไม่ได้มีการวินิจฉัยให้พระธัมมชโยสละสมณเพศแต่อย่างใด ด้านนายกนก แสนประเสริฐ รอง ผอ.พศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการจากนี้ไป เมื่อ พศ. เสนอให้ใช้กฎ มส. ฉบับที่ 21 ต่อเจ้าคณะใหญ่หนกลางแล้ว เจ้าคณะหนกลางจะแจ้งเรื่องไปยังเจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้น จนถึงพระวิเทศภาวนาจารย์ รักษาการเจ้าอาสวาสวัดพระธรรมกาย ดำเนินการพิจารณาตามขั้นของกฎ มส. ฉบับที่ 21 โดยกฎ มส. ดังกล่าวไม่ได้มีเงื่อนไขเวลาไว้ แต่คาดว่าจะต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ การเสนอให้ใช้กฎ มส. ฉบับที่ 21 ถือเป็นกระบวนการเริ่มต้นของการพิจารณาเรื่องพระธรรมวินัยของพระธัมมชโย
พร้อมย้ำกรณีที่สังคมกล่าวถึงการสั่งให้พระธัมมชโยสึกกลางอากาศนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกระบวนการสงฆ์มีขั้นตอนพิจารณาโทษทางพระธรรมวินัย ซึ่งขณะนี้ถือว่าต้องให้เจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้นเป็นผู้พิจารณา ส่วนความกังวลที่ขณะนี้วัดพระธรรมกายไม่มีผู้นำที่ชัดเจนจนอาจเกิดเป็นลัทธิใหม่ สร้างความแตกแยกนั้น ทาง ผอ.พศ. ย้ำว่าประเด็นนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากในทางปกครองสงฆ์ หากวัดใดไม่มีเจ้าอาวาสหรือรักษาการเจ้าอาวาสที่สามารถปกครองดูแลวัด จะเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะปกครองหรือผู้ทรงอำนาจทางสงฆ์จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลจนกว่าจะมีมติแต่งตั้งเจ้าอาวาสหรือรักษาการขึ้นมาดูแล.-สำนักข่าวไทย