รร.ดิเอทัส 15 มี.ค. – รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์เผยวิสัยทัศน์ก้าวต่อไป หลังครบรอบ 50 ปีอาเซียน มุ่งพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรมด้วยวิสัยทัศน์ 20 ปี
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา “50 ปีอาเซียนกับการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ” โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาอาเซียน และได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในและต่างประเทศมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อปรับกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจการค้าในเชิงรุก พร้อมบุกตลาดต่างประเทศ โดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเข้าใจถึงแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้บริบทการปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0
อย่างไรก็ตาม อาเซียนเป็นตลาดที่มีศักยภาพและขยายตัวต่อเนื่อง ความต้องการที่จะนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภครวมทั้งการลงทุนจากประเทศต่าง ๆ นั้นยังมีอยู่อีกมากการดำเนินธุรกิจในตลาดอาเซียน โดยตลาดอาเซียนถือเป็นตลาดหลักของไทย ปีที่ผ่านมาสามารถส่งออกมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม และยังมีแนวโน้นที่จะเติบโตในตลาดเหล่านี้อีกมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัวแม้ว่าจะส่งออกในตลาดอาเซียนได้มากขึ้นและอย่าไปหวังตลาดสหรัฐและยุโรปมากเกินไป และเห็นว่าอย่าเน้นการส่งออกอย่างเดียว โดยจะต้องเน้นทั้งการเข้าไปลงทุนและการเสริมสร้างเป็นพันธมิตรด้านการค้าในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น
ทั้งนี้ ทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บริบทของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยเฉพาะการยื่นจดเครื่องหมายการค้าที่ผู้ประกอบการไทยจะละเลยไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันการยื่นขอจดเครื่องหมายการค้าในภายกรอบอาเซียนจะใช้เวลา 9-16 เดือน เนื่องจากมีขั้นตอนในการตรวจเช็คข้อมูลว่าเครื่องหมายการค้าซ้ำซ้อนกันหรือไม่ จึงต้องใช้เวลานาน แต่เพื่อให้มาตรฐานการยื่นจดเครื่องหมายการค้าในกลุ่มอาเซียนที่จะใช้มาตรฐานเดียวกัน ไทยอยู่ระหว่างปรับลดขั้นตอนจาก 9-12 เดือนให้เหลือเพียง 9 เดือนได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งประเทศในอาเซียนตรวจสอบเครื่องหมายการค้าโดยใช้เวลาเพียง 9 เดือน คือ ประเทศสิงคโปร์
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน 2016-2025 (ASEAN IPR Action Plan 2016-2025) ประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.พัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการ เพิ่มประสิทธิภาพของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของแต่ละประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญาระดับภูมิภาค 2.พัฒนาระบบและเครือข่ายทรัพย์สินทางปัญญาของภูมิภาคอาเซียนให้สนับสนุน AEC 3.พัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียนให้ครอบคลุมในวงกว้างและ 4.สร้างสินทรัพย์โดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือโดยเฉพาะสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอาเซียนมีการจัดตั้งคณะทำงานความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน หรือ ASEAN Working Group on Intellectual Property Cooperation หรือ AWGIPC เป็นเวทีการประชุมหารือระหว่างระดับอธิบดี สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน พบกันปีละ 2-3 ครั้ง โดยความสำเร็จของการดำเนินงานของ AWGIPC ที่ผ่านมา เช่น จัดทำโครงการ ASPEC หรือโครงการแลกเปลี่ยนผลการตรวจสอบสิทธิบัตรของอาเซียน โครงการจัดทำฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าของอาเซียนเพื่อประโยชน์ ในการสืบค้นเครื่องหมายการค้า ที่มีการจดทะเบียนไว้ในประเทศสมาชิกอาเซียน และการผลักดันให้สมาชิกอาเซียนเข้าเป็นภาคี ความตกลงระหว่างประเทศขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เช่น พิธีสารมาดริด เพื่ออำนวยความสะดวกการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น
นอกจากนี้ การพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้มีประสิทธิภาพถือเป็นวาระที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญา หรือ คทป. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาด้านต่าง ๆ ซึ่ง คปท.เห็นชอบแผนที่นำทาง (Roadmap) ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย ระยะ 20 ปี เพื่อปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและปัญญา ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ 1.การสร้างสรรค์ (Creation) 2. การคุ้มครอง (Protection) 3.การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (Commercialization) 4.การบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) 5.การสนับสนุนทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชนและประเทศด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI 6.เรื่องทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งการดำเนินงานทั้ง 6 ด้านของไทยก็สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของ ASEAN ด้านทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับปี 2016-2025 .-สำนักข่าวไทย