กรุงเทพฯ 16 มี.ค.-เรามาย้อนลำดับกระบวนการก่อนหน้านี้ ที่มีการประชุมกันระหว่างกรมสรรพากร รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการจัดเก็บภาษีจากการซื้อ-ขายหุ้น “ชินคอร์ป”
ในที่ประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น “ชินคอร์ป” ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พบว่ามีความเห็นเป็น 2 ทาง ก็คือ ในฝั่งกรมสรรพากร มองว่ากรณีดังกล่าวเรียกเก็บภาษีไม่ได้ ส่วนฝั่ง สตง.มองว่าสามารถเรียกเก็บได้
หลังจากนั้นก็ได้มีกรอบการพิจารณากรณีดังกล่าวออกมาเป็น 4 แนวทางหลักๆ ประกอบด้วย 1.รัฐจะไม่ใช่มาตรา 44 เข้าไปดำเนินการ โดยให้ใช้กฎหมายปกติหรือกฎหมายภาษีทั่วไป 2.จะไม่มีการขยายอายุความ 3.ใช้หลักให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และ 4.จะเข้าไปดูเจตนาว่าการซื้อขายหุ้นครั้งดังกล่าวสุจริตหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินการจัดเก็บภาษีจะใช้ช่องทางของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 และ 821 โดยอิงจากกรณีคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางที่ระบุว่า นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา บุตรของนายทักษิณ เคยถือและขายหุ้นออกไปเมื่อปี 2549 ซึ่งหมายความว่าทั้งสองเป็นตัวแทนและมีผลผูกพัน ดังนั้น กรมสรรพากรจึงสามารถส่งจดหมายแจ้งประเมินภาษีให้นายทักษิณได้ โดยไม่ต้องเชิญมาไต่สวนอีก
สรุปคือ กระบวนการหลังจากนี้ กรมสรรพากรจะประเมินภาษีภายใน 31 มีนาคม และส่งไปให้นายทักษิณให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย หากไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน หากผลอุทธรณ์ออกมาและไม่เป็นธรรม ทักษิณก็สามารถยื่นฟ้องร้องต่อศาลได้ และจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ทำให้รัฐมีเวลาในการจัดเก็บภาษีได้.-สำนักข่าวไทย