สตูล 16 มี.ค.-การศึกษาทบทวนความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม “โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ปี 2546 พบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประเมินไว้ มากถึงราว 200,000 กว่าล้านบาท ตลอดอายุการใช้งาน 30 ปี
โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราอยู่ใน จ.สตูล ห่างจากเกาะตะรุเตา 12 กิโลเมตร ห่างจากเกาะหลีเป๊ะ 56 กิโลเมตร เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้านและประเทศใกล้เคียง และเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศ เช่น ไทย-จีน, ไทย-อินเดีย มีแนวร่องน้ำลึกโดยธรรมชาติเหมาะสม สำหรับเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่ รวมเป็นพื้นที่ยังไม่ห่างจากเส้นทางเดินเรือหลักของโลก คือ จากบริเวณช่องแคบมะละกาใช้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง ตั้งอยู่ฝั่งเดียวกันกับตลาดการค้าใหญ่ของโลก เช่น เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป บริเวณพื้นที่จังหวัดและใกล้เคียง หรือ Hinter Land มีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายรายการ เช่น แผนการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมทางถนน ทางรถไฟ การส่งเสริมและสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมสะอาดต่างๆ เช่น การผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง, ปลากระป๋อง, อาหารฮาลาล, ผลิตภัณฑ์จากยางพาราอันเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า เป็นต้น ซึ่งสามารถเชื่อมโยงการคมนาคมจากฝั่งทะเลตะวันตกที่ จ.สตูล ไปยังฝั่งตะวันออกของประเทศได้
ส่วนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารามีแผนตั้งแต่ปี 2559-2563 ระยะเวลาก่อสร้าง 60 เดือน ขนาดพื้นที่ 292 ไร่ มีหน้าท่ายาว 750 เมตร ตลอดหน้าท่า และท่าเทียบเรือบริการ 220 เมตร
โดยคาดว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจตลอดอายุของท่าเรือ 30 ปี รวมผลตอบแทนราว 220,454 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากสินค้าที่มาใช้ท่าเรือ 44,429 ล้านบาท ประหยัดค่าขนส่งสินค้าของภาคใต้ 38,272 ล้านบาท ประหยัดค่าขนส่งสินค้าของภาคอื่น 3,764 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มของที่ดินอยู่ที่ 27,653 ล้านบาท การจ้างแรงงานที่ 82,671 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย