กรุงเทพฯ 20 ต.ค. – หอการค้าไทย คาดมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ดัน GDP ปี 64 เติบโต 1.0-1.5%
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การที่ ครม.อนุมัติงบประมาณ 54,600 ล้านบาท สำหรับมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โครงการคนละครึ่ง และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมาก ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะเป็นการบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพ และยังช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ประมาณ 95,000 ล้านบาท ส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2564 เพิ่มเป็น 1.0-1.5%
“ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี เป็นช่วงที่ประชาชนใช้จ่ายกันมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว หรือการซื้อของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัด ทำให้เงินในระบบเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาหมุนเวียนช้า มาตรการของภาครัฐที่ออกมาดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องที่ดี และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพได้ส่วนหนึ่ง และหลังจากน้ำท่วม จะต้องมีการก่อสร้าง การจับจ่ายใช้สอยเพื่อฟื้นฟูความเสียหาย โดยส่วนนี้ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนได้ โดยหอการค้าไทย ประเมินว่า ผลลัพธ์จากมาตรการต่างๆ นี้ จะเกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้ GDP ปีนี้เติบโตได้ 1-1.5%” นายสนั่น กล่าว
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทย มองว่า การใช้จ่ายของประชาชนใน 2 เดือนสุดท้ายนี้ จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญตัวหนึ่งในการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ นอกเหนือจากเม็ดเงินที่จะได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะแม้ว่าจะเริ่มเปิดเมืองในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่ได้เข้ามาทันทีทันใด ดังนั้น การบริโภคและการเดินทางภายในประเทศ จึงเป็นตัวเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่สำคัญคือ ประชาชนและผู้ประกอบการต้องไม่ละเลยการระมัดระวังตัว และรักษามาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดด้วย. – สำนักข่าวไทย