กรุงเทพฯ 16 พ.ค.- KKP ปรับคาดการณ์ GDP ปี 2568 เหลือ 1.7% ชี้ปัญหาไม่ใช่แค่ทรัมป์ แต่คือโครงสร้างเศรษฐกิจไทย หากไม่แก้ไข เสี่ยงโตต่ำกว่า 2% ถาวร
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับ GDP ลงเหลือ 1.7% ในปี 2568 ลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่ 2.3% ส่วนหนึ่งสะท้อนผลจากนโยบายการค้าสหรัฐ ฯ ต่อการส่งออก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลกซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจบริโภคและลงทุน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยสูงเกินไปมาตลอด ซึ่งสะท้อนสองเรื่องสำคัญ คือ 1) เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงไม่ได้เกิดจากปัจจัยชั่วคราว แต่เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ไม่ฟื้นขึ้นมาเองเมื่อเวลาผ่านไป 2) ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกระทบเศรษฐกิจระหว่างปีและเศรษฐกิจโตได้ต่ำกว่าที่คาด KKP Research ต้องการชี้ให้เห็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในความจริงแล้วสาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากนโยบายภาษีของ Trump เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ได้รับแรงส่งหลักจากภาคการท่องเที่ยวมาโดยตลอดตามฐานการท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงการระบาดของโควิด แต่หากไม่นับรวมการท่องเที่ยว จะพบว่าเศรษฐกิจไทยในส่วนที่เหลือหดตัวมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 และกลับมาโตเป็นบวกเล็กน้อยแตะระดับ 0% ในช่วง 2 ไตรมาสล่าสุด การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบต่อเนื่องสะท้อนว่าภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ของไทยที่ไม่รวมการท่องเที่ยว เช่น ภาคอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจในประเทศอาจเรียกว่าอยู่ในภาวะถดถอยไปแล้ว ซึ่งสะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว
ในปี 2568 สามเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกำลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงพร้อมๆกัน สะท้อนว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ได้เกิดจากนโยบายภาษีเป็นเรื่องสำคัญเรื่องเดียว โดย KKP Research ประเมินว่าในที่สุดระดับภาษีที่สหรัฐฯ คิดกับไทยและประเทศอื่นๆในโลกจะค้างอยู่ที่ระดับ 10%
หากการเจรจาล้มเหลว และสหรัฐฯ กลับมาเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 36% หลังครบกำหนดผ่อนผัน 90 วัน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง KKP Research ประเมินว่า GDP ไทยในปี 2568 อาจลดลงต่ำสุดเหลือเพียง 0.9% อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งอุปทานว่าค่อนข้างยากที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปเติบโตที่ 3% แม้จะไม่มีมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ก็ตาม
KKP Research ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย 3 ข้อ คือ (1) นับตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไปจะเป็นปีที่ไม่เหลือแรงส่งให้เศรษฐกิจเติบโตได้อีกแล้วและยากที่แต่ละ Sector จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนในอดีต จะทำให้ GDP โตต่ำกว่า 2% (2) ปัญหาของภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงไม่ได้เกิดจากเฉพาะปัจจัยระยะสั้นเช่นภาษีของ Trump ที่จะทยอยดีขึ้นเอง (เช่น หากมีการเจรจาการค้าสำเร็จ) แต่เป็นภาพสะท้อนปัญหาระยะยาว (3) เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอจากหนี้ครัวเรือนในขณะที่โลกกำลังผ่านจุดสูงสุดของโลกาภิวัฒน์ทำให้ไทยไม่เหลือแรงส่งจากทั้งในและต่างประเทศ
KKP Research ประเมินว่าภาครัฐต้องไม่ยึดติดกับการทำนโยบายแบบเดิม ๆ และควรต้องมีการประสานด้านนโยบาย การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีความครบถ้วนทั้งในมิติของระยะสั้นและระยะยาว และต้องมีทั้งนโยบายด้านอุปสงค์และนโยบายด้านโครงสร้าง การใช้นโยบายการเงินหรือการคลังเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของเศรษฐกิจได้ หากขาดการปฏิรูปเชิงโครงสร้างควบคู่กันไป.-516-สำนักข่าวไทย