กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 6 ม.ค.- ปภ.รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ 9 จังหวัด เตือน 15 จังหวัดใต้รับมือฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งและคลื่นลมแรง จนถึงวันที่ 8 มกราคม
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันใน 9 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร รวม 68 อำเภอ 381 ตำบล 2,507 หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต 6 ราย
จังหวัดพัทลุง น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอกงหรา อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน อำเภอศรีบรรพต อำเภอเขาชัยสน อำเภอป่าบอน อำเภอบางแก้ว อำเภอป่าพะยอม และอำเภอตะโหมด รวม 52 ตำบล 507 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 29,327 ครัวเรือน
จังหวัดนราธิวาส น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอศรีสาคร อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน อำเภอสุไหงโก – ลก อำเภอสุไหงปาดี อำเภอจะแนะ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอยี่งอ อำเภอตากใบ และอำเภอบาเจาะ รวม 75 ตำบล 502 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 29,535 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 2 ราย
จังหวัดยะลา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา อำเภอรามัน อำเภอยะหา และอำเภอบันนังสตา รวม 35 ตำบล 159 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,986 ครัวเรือน 16,654 คน
จังหวัดสงขลา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอนาหม่อม อำเภอสะเดา อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอควนเนียง อำเภอรัตภูมิ และอำเภอคลองหอยโข่ง รวม 29 ตำบล 189 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,793 ครัวเรือน อพยพ 52 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 2 ราย
จังหวัดปัตตานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอยะรัง อำเภอกะพ้อ อำเภอหนองจิก อำเภอเมืองปัตตานี และอำเภอสายบุรี รวม 36 ตำบล 111 หมู่บ้าน
จังหวัดตรัง น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาโยง อำเภอรัษฎา อำเภอเมืองตรัง และอำเภอห้วยยอด รวม 21 ตำบล 185 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับ ผลกระทบ 7,824 ครัวเรือน
จังหวัดสุราษฎร์ธานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอบ้านนาสาร อำเภอดอนสัก อำเภอท่าชนะ อำเภอเกาะสมุย อำเภอไชยา และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี รวม 20 ตำบล 116 หมู่บ้าน
จังหวัดนครศรีธรรมราช น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 17 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด อำเภอสิชล อำเภอทุ่งสง อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอท่าศาลา อำเภอนาบอน อำเภอพิปูน อำเภอช้างกลาง อำเภอฉวาง อำเภอนบพิตำ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอพระพรหม อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอขนอม อำเภอพรหมคีรี และอำเภอลานสกา รวม 98 ตำบล 626 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 72,337 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 2 ราย
และจังหวัดชุมพร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทุ่งตะโก อำเภอพะโต๊ะ อำเภอหลังสวน และอำเภอละแม รวม 11 ตำบล 91 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 500 ครัวเรือน
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ในภาพรวมสถานการณ์ยังมีฝนตกในพื้นที่ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถบรรทุกขนาดใหญ่ เรือท้องแบนอำนวยความสะดวกในการสัญจรแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยด่วน
อธิบดีกรมป้องกันฯ กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณเกาะสุมาตราและทะเลอันดามัน ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2560 คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 4 เมตร โดยเฉพาะพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสานจังหวัดดังกล่าวและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมรับมืออุทกภัยและดินถล่ม
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ได้จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สำหรับผู้ประกอบการทางน้ำและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 8 มกราคม 2560 ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป.-สำนักข่าวไทย