กรุงเทพฯ 10 ม.ค. – กบง.มีมติตรึงราคาแอลพีจี ม.ค.2560 ที่ 20.29 บาท/กก. โดยใช้สูตรใหม่รองรับการเปิดเสรีแอลพีจี คาดภายใน 3 เดือนข้างหน้าจะมีเอกชน 2-3 ราย พร้อมนำเข้าจากปัจจุบันมี ปตท.นำเข้ารายเดียว ด้านแอลเอ็นจีราคาขยับขึ้นส่อแววกระทบค่าไฟฟ้า
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.ที่ประชุมวานนี้ (9 ม.ค.) มีมติตรึงราคาขายปลีกแอลพีจี เดือนมกราคมที่ 20.29 บาท/กก.ต่อไป แม้ราคาต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 80-90 สต./กก. จากต้นทุนราคาตลาดโลก (ราคาซีพี) ที่เพิ่มขึ้นจาก 369 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เป็น 465 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และเงินบาทที่อ่อนค่าจาก 35.98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจากการปรับสูตรคำนวณราคาแอลพีจีใหม่ ราคากลางที่นำมาคำนวณในระบบอยู่ที่ 509 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน (ราคาซีพี 465 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) บวกค่าขนส่งและประกัน (43 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) เท่ากับ 509 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน โดยผู้จ่ายเงินอุดหนุนผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คือ โรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นวงเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมัน รวม 1,234 ล้านบาท แต่จากการตรึงราคาแอลพีจีขายปลีกเท่าเดิม เงินกองทุนต้องจ่ายเงินอุดหนุนรวม 1,234 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อหักเงินกองทุนไหลออกและรายนับแล้ว กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงอุดหนุนราคาขายปลีกเดือนมกราคม 440 ล้านบาท และเงินสุทธิกองทุนน้ำมันบัญชีแอลพีจี อยู่ที่ 7,361 ล้านบาท
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายแลแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การปรับสูตรราคาแอลพีจีดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายการเปิดสรีแอลพีจีทั้งระบบ เบื้องต้นช่วงเปลี่ยนผ่านจะไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยจะเร่งส่งเสริมการแข่งขันการนำเข้าแอลพีจีในอนาคต ทดแทนก๊าซในประเทศที่ลดลง ซึ่งขณะนี้มีเอกชน 2-3 ราย สนใจนำเข้า เช่น บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ ซึ่งจะเริ่มนำเข้าใน 2-3 เดือนข้างหน้า พร้อม ๆ กับคลังแอลพีจี ของ ปตท.ก็พร้อมที่จะให้บริการนำเข้าแก่บุคคลที่ 3
ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2560 การใช้ก๊าซแอลพีจีในประเทศมาจาก โรงแยกก๊าซ 330,000 ตัน/เดือน โรงกลั่นน้ำมัน 150,000 ตัน/เดือน และการนำเข้าประมาณ 22,000 ตัน/เดือน
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบ ขณะที่ราคาแอลเอ็นจี ตลาดจรล่าสุดขยับเพิ่มมาเป็น 9.30 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู จากเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ 7.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งกรณีนี้จะส่งผลต่อต้นทุนไฟฟ้าของประเทศในอนาคต หากไทยยังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลจึงต้องส่งเสริมนโยบายการกระจายเชื้อเพลิง ไปยังถ่านหินและพลังงานทดแทน
นายทวารัฐ ยังกล่าวด้วยว่า กบง.ได้พิจารณาทบทวนต้นทุนการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกปี 2559 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า จึงปรับเงินอุดหนุนที่ 14.55 บาท/ลิตร หรือเทียบเท่าราคาน้ำมันดิบดูไบที่ประมาณ 65 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.05 บาทต่อลิตร. -สำนักข่าวไทย