กรุงเทพฯ 10 ม.ค. – นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ สำหรับงบดำเนินการ 5 ปี (ปี 2560-2564) นั้น ที่ 14,950 ล้านดอลลาร์ โดยหากเปรียบเทียบกับงบ 5 ปีที่ผ่านมา (2559-2563 ) ที่ 17,765 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าลดลงกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายสมพร กล่าวว่า งบลงทุนที่ลดลงเกิดจากการปรับแผนการลงทุนตามสถานการณ์ราคาปิโตรเลียม เช่น โครงการในประเทศโมซัมบิกที่เลื่อนการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจากเดิมปีที่แล้ว เป็นต้น และจากการปรับงบดังกล่าวทำให้ปริมาณการขายปิโตรเลียมก็ลดลง โดยคาดการณ์ปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยต่อวันในปี 2560 ที่ 312,000 บาร์เรล/วัน และปี 2564 เพิ่มเป็น 263,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่แผนงานเดิมปี 2560 วางแผนขายที่ 331,000 บาร์เรล/วัน (ลดลง 19,000 บาร์เรล/วัน) และปี 2564 อยู่ที่ 302,000 บาร์เรล/วัน (ลดลง 39,000 บาร์เรลต่อวัน )
นายสมพร กล่าวว่า ในส่วนของแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2560-2564) นั้น จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีสัญญาณฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2559 บริษัทจึงได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 14,950 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ ซึ่งรวมค่าพัฒนาโครงการคอนแทร็ค 4 (แหล่งอุบล) โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ซึ่งทั้ง 3 โครงการดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision)
“สถานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีเงินสดในมือสูงกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทจึงมีความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันผันผวนที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงมีความพร้อมในการแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ และการเข้าซื้อกิจการเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองและปริมาณการผลิตปิโตรเลียมให้กับบริษัทระยะยาว”นายสมพร กล่าว
นายสมพร กล่าวด้วยว่า บริษัทได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายสำหรับปี 2560 ไว้ที่ 2,903 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ (ลดลงจากแผนเดิม 1,273 ล้านดอลลาร์) โดยแบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) 1,643 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure) 1,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยร้อยละ 88 ของรายจ่ายลงทุน ใช้ไปสำหรับรองรับโครงการในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ โดยโครงการในประเทศไทยได้รับการจัดสรรรายจ่ายลงทุนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64 ของรายจ่ายลงทุนทั้งหมด โดยกิจกรรมส่วนใหญ่มุ่งเน้นเพื่อรักษาระดับปริมาณการผลิต มีโครงการหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 โครงการบงกช โครงการคอนแทร็ค 4 และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย
โครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นมีประมาณการรายจ่ายลงทุนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24 ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายลงทุนเพื่อรักษาระดับการผลิตสำหรับโครงการในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้แก่ โครงการซอติก้า และโครงการยาดานา รวมถึงรายจ่ายสำหรับการสำรวจ (Exploration) ในโครงการเมียนมาร์ เอ็มโอจีอี 3 และโครงการเมียนมาร์ เอ็ม 11 และโครงการในภูมิภาคอื่น ๆ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ มีประมาณการรายจ่ายลงทุนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 โดยกิจกรรมที่สำคัญส่วนใหญ่เพื่อการดำเนินงานในโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย รวมถึงรายจ่ายในการพัฒนาโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision)
สำหรับรายจ่ายในการสำรวจ (Exploration) ปี 2560 นั้น บริษัทได้ประมาณการไว้จำนวนทั้งสิ้น 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่เพื่อใช้สำหรับการสำรวจคลื่นไหวสะเทือนทางธรณีวิทยา การศึกษาทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ รวมถึงรายจ่ายในการขุดเจาะหลุมสำรวจและประเมินผล. – สำนักข่าวไทย