รร.เซ็นทารา ลาดพร้าว 11 ม.ค. – สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดสัมมนาใหญ่ ประจำปี 2559 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ “จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปมาก ทั้งเทคโนโลยี การผลิต การตลาด การบริโภค ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยยังเป็นแบบเดิม เมื่อรัฐบาล คสช.ยังบริหารดูแลเศรษฐกิจของประเทศ มองว่าจีดีพีจะขยับในรูปสัญญลักษ์ ไนกี้ ไม่ใช่ตัว L เหมือนที่หลายฝ่ายมอง และเมื่อปรับความสมดุลทุกด้านผ่านนโยบายไทยแลนด์ 4.0 หลังจากเร่งออกฎหมายหลายฉบับ การวางโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม การสร้างผู้ประกอบการใหม่ ดูแลภาคเกษตรให้ครบวงจร นายกรัฐมนตรีให้การสนับสนุนทีมเศรษฐกิจอย่างเต็มที่
“ช่วง 2560 เริ่มมีความเชื่อมั่น เมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอนเริ่มหายไป ต่างชาติเริ่มมองเข้ามายังไทย เพื่อขยายการลงุทน หลังจากการเดินสายโรดโชว์ในต่างประเทศที่ผ่านมาจึงทำให้เงินลงทุนโดยตรงเริ่มเข้ามาแล้ว บวกกับการฟื้นตัวของการลงทุน หลังรัฐบาลเตรียมขยายเวลามาตรการอุดหนุนการลงทุน การท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี การบริโภคสินค้าเกษตรเริ่มดีขึ้น ดังนั้น ปี 2560 จึงเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย เมื่อรัฐบาลเริ่มเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจีดีพีจะขยับขึ้นมากกว่าตัวไนกี้ จากแรงขับเคลื่อนจีดีพีหลายด้าน” นายสมคิด กล่าว
ทั้งนี้ ยอมรับว่าพื้นฐานเศรษฐกิจเปลี่ยนไปมาก แม้แต่ซื้อสินค้าจากตลาดสดยังสั่งผ่านร้าน V-shave ส่งตรงถึงบ้าน การเรียนการสอนได้เปลี่ยนไปมากผ่านอินเทอร์เน็ตครูผู้เชี่ยวชาญสอนได้ทั่วประเทศผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้น สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงพลิกประเทศได้รัฐบาลจึงต้องเริ่มขับเคลื่อนปัจจัยต่าง ๆ ประกอบด้วย 1.การเร่งรัดลงทุนอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบรนด์ ด้วยเงินลงทุน 15,000 ล้านบาท โดยต้องลงทุนอย่างรวดเร็ว เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพื่อให้ประเทศปรับทิศทางประเทศ เนื่องจากโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ต้องลงทุนให้เสร็จรองรับทั้งการศึกษา ค้าขาย เชื่อมโยงข้อมูลทุกด้าน เพราะโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญของทุกด้าน
2.การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อดึงการลงทุนทุกด้านมารวมอยู่ในที่เดียวกัน มีมาตรการจูงใจการลงทุนอย่างพร้อมเพียงนอกจากมาตรการทางภาษี การตั้งโรงเรียนผลิตบุคลากรรองรับภาคอุตสหากรรม การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกของเอกชนทุกด้าน ครม.ได้เห็นชอบตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเดินหน้าเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานลงทุนรถไฟรางคู่ เพื่อเน้นการส่งสินค่าผ่านระบบราง
3.การสนับสนุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และแบงก์รัฐ ร่วมสร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคเกษตร การทำนาแปลงใหญ่ การสอนให้ขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต การขนสินค้าส่งตลาดโดยตรง สอนชาวบ้านปรับปรุงแพ็กเก็จ ขายสินค้า ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านการให้สินเชื่อและให้ความรู้กับภาคเกษตร 4. การจัดสรรงบประมาณ เนื่องจากที่ผ่านมามีการจัดสรรงบประมาณตามกลุ่มการเมือง ผลักดันออกไปพื้นที่จึงทำได้ยาก งบส่วนใหญ่อยู่ในส่วนกลาง ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วการจัดสรรงบประมาณต้องมาจากความต้องการของพื้นที่ต่างจังหวัด รัฐบาลจึงต้องปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เริ่มนำร่องด้วยการใช้เงิน 100,000 ล้านบาท ผ่านงบกลางปี เพื่อจัดสรรงบประมาณผ่านกลุ่มจังหวัด เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัด วางแผนพัฒนาท้องถิ่นตามลักษณะกลุ่มจังหวัดจะทำให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพ เมื่อวางพื้นฐานผ่าน 4 ปัจจัยดังกล่าว จีดีพีของประเทศจะขยายตัวร้อยละ 3-4 มองเป็นเรื่องธรรมดา เพราะจะเติบโตได้มากกว่านั้น เชื่อมั่นว่าจะปรับเปลี่ยนประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย