รัฐสภา 14 พ.ย.- สนช.จัดสัมมนาเตรียมความพร้อมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ประธาน สนช.ย้ำ ต้องรอบคอบและรัดกุม ขณะที่ กรธ. ชี้แจงสาระสำคัญร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยืนยัน ไม่เซตซีโร่พรรคการเมือง
คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาเตรียมความพร้อมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปตามเจตนารมย์ของร่างรัฐธรรมนูญโดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ และแก้ไขโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯ เรียบร้อยแล้ว
นายพรเพชร กล่าวว่า สนช. มีหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 10 ฉบับ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.ป. ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ที่ต้องจัดทำให้แล้วเสร็จก่อน การพิจารณารวมทุกฉบับ จะต้องให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 60 วัน หลังจากได้รับร่าง พ.ร.ป. ดังนั้น จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตีความ หรือมีปัญหาเรื่องกฎหมายในภายหลัง
“ด้วยกรอบระยะเวลาการพิจารณา จะมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้คณะกรรมมาธิการที่มาพิจารณา ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีความสนใจ และเสียสละเวลาในการพิจารณา เพื่อให้แล้วเสร็จตามเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติในอนาคตต่อไป” นายพรเพชร กล่าว
นอกจากนี้ งานสัมมนาดังกล่าว ยังมีการบรรยายเรื่อง เจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.ป.ตามบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. ซึ่งได้ชี้แจงถึงกรอบเวลาและสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ป. โดยเฉพาะร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะนำส่งให้ สนช.ในวันถัดจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้
ทั้งนี้ กรธ.ได้วางหลักการใน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เน้นการแก้ไขปัญหานายทุนพรรค และทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง พร้อมยืนยันว่า กรธ.ไม่เคยพูดถึงการเซตซีโร่พรรคการเมือง เป็นเพียงข้อห่วงใย และการวิพากษ์วิจารณ์จากภายนอกเท่านั้น เพราะในบทเฉพาะกาล กำหนดให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังคงเป็นพรรคการเมืองตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ต้องแก้ไขข้อบังคับพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ.นี้บังคับใช้ ไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ได้
เช่นเดียวกับ การจัดทำทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง และบัญชีทรัพย์สินของพรรคการเมือง ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หากไม่เสร็จตามกำหนด จะไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้ ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.นั้น ย้ำว่า หลังร่างมีผลบังคับใช้ กกต.ชุดเดิมจะอยู่ได้ เฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น .- สำนักข่าวไทย