รัฐสภา 16 ม.ค.- กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สปท. ยอมถอย นำเรื่อง “การปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข” กลับไปปรับปรุง หลังเสียงงดออกเสียงมากกว่าเสียงเห็นชอบ จนมีการถกและตีความกัน เกรงว่าจะมีผลกระทบกับข้อเสนอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีน.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท.คนที่สอง เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เรื่อง “การปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พร้อมร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 3 ฉบับ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ….นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ประธานกรรมาธิการฯ ระบุว่าเพื่อให้มีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากผู้ที่ได้รับความเสียหาย ทั้งผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการและผู้ให้บริการ เพื่อลดคดีฟ้องร้องในศาลยุติธรรม และส่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ
พล.อ. ชูศักดิ์ สันติวรวุฒิ ประธานอนุกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ขยายความเพิ่มเติมว่า ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมามีคดีความฟ้องร้องกันกว่า 420 คดี คณะกรรมาธิการฯ จึงเสนอให้มีกระบวนการไกล่เกลี่ยอย่างมีเหตุผลเป็นธรรม มีการตั้งกองทุนเยียวยาโดยเร็วโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด มีการทำสัญญาประนีประนอมเพื่อไม่ให้เป็นคดี แต่มีมาตรการกำกับดูแลปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น แม้จะมีกระบวนการไกล่เกลี่ย แต่ผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิฟ้องต่อศาลยุติธรรมได้
สำหรับกองทุนเยียวยาชดเชยดังกล่าว จะนำเงินมาจากการหักไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์จากการการรักษาพยาบาลของกองทุนสุขภาพ 3 กองทุนหลัก ซึ่งมีอยู่แล้วตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ แต่ขยายกรอบการคุ้มครองให้ครอบคลุมทั้ง 3 กองทุน อย่างไรก็ตาม จะมีการยกเว้นกรณีผลกระทบที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรค หรือเป็นผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐาน
ทั้งนี้ มีสมาชิกอภิปรายสนับสนุนหลักการในการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ แต่มีข้อสังเกตในบางประเด็น อาทิ รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) เภสัชกร กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เห็นว่า ควรกำหนดสิทธิให้ครอบคลุมผู้เข้ารับบริการทุกคนและสถานบริการทุกแห่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และควรลงรายละเอียดของข้อยกเว้นผลกระทบที่ไม่เข้าข่ายได้รับการเยียวยาให้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งผลกระทบตามปกติธรรมดา และผลกระทบซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการรับบริการสาธารณสุขตามมาตรฐาน เพราะมาตรฐานการบริการทั่วประเทศอาจไม่เท่ากัน
นายคุรุจิต นาครทรรพ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมผู้ที่รักษาตามสิทธิ์ประกันสังคม ซึ่งบางส่วนรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้น ควรมีการรับฟังความคิดเห็นจากโรงพยาบาลเอกชนด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่ และมีข้อห่วงในแนวทางปฏิบัติในมาตรา 5 และมาตรา 6 ที่อาจเกิดปัญหาการตีความเรื่องการรับเงินชดเชยจากกองทุนและข้อยกเว้นในการเยียวยา จึงควรระบุรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้น
นายกษิต ภิรมย์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ขอความชัดเจนจากคณะกรรมาธิการฯ ว่ากฎหมายดังกล่าวจะยกความรับผิดหรือตอบสนองผลประโยชน์ให้กับผู้ที่ทำงานผิดพลาด ทั้งโรงพยาบาล ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลเอกชน แพทย์ พยาบาล และบริษัทขายยา แล้วผลักภาระความรับผิดชอบไปให้ผู้เสียภาษีจากการจัดตั้งกองทุนและนำเงินภาษีของประชาชนมาชดเชยใช่หรือไม่ และยังเป็นการปิดปากประชาชนที่มาเข้ารับบริการให้รับเงินชดเชยแล้วเลิกรากันไป ซึ่งตนไม่เห็นด้วยหากข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้
ขณะที่นายวิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่เห็นด้วยกับรายงานดังกล่าวและขอให้คณะกรรมาธิการฯ นำรายงานกลับไปทบทวน เนื่องจากมีความกำกวม เกรงว่าจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในวงการแพทย์ขึ้นมาอีก รวมถึงอาจสร้างพฤติกรรมไม่ดีของคนไข้ด้วย ดังนั้น คณะกรรมาธิการควรสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งแพทยสภา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าเห็นด้วยกับการตั้งกองทุนเยียวยาหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการออกเสียงลงคะแนน เรื่อง รายงานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เรื่อง “การปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พร้อมร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 3 ฉบับที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 48 เสียง ไม่เห็นด้วย 26 เสียง งดออกเสียง 77 เสียง ซึ่งการลงคะแนนงดออกเสียงมีมากกว่าเสียงที่เห็นด้วย เนื่องจาก ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยังไม่เคยปรากฎเหตุการณ์การงดลงคะแนนเสียง ที่มีคะแนนมากกว่าคะแนนเสียงที่เห็นด้วย ทำให้ประธานในที่ประชุมเกรงว่าจะเกิดปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกษิต ภิรมย์ นายเสรี สุวรรณ์ภานนท์ ไม่เห็นด้วยที่จะลงคะแนนใหม่ จึงเสนอให้คณะกรรมาธิการนำรายงานดังกล่าวกลับไปทบทวนใหม่ เพื่อความถูกต้องและชัดเจนมากกว่านี้ และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการลงคะแนนเสียง ซึ่งหากส่งรายงานฉบับนี้ไปยังรัฐบาล เชื่อว่าจะไม่ได้รับการพิจารณาและถูกตีกลับอย่างแน่นอน จึงขอให้คณะกรรมาธิการนำเรื่องดังกล่าวไปทบทวนใหม่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทั้งในที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและการทำงานของรัฐบาล ซึ่งนายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ประธานกรรมาธิการฯ ยินยอมจะนำรายงานเรื่องดังกล่าวพร้อมทั้งร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ กลับไปพิจารณาทบทวนใหม่ภายในระยะเวลา 30 วัน .-สำนักข่าวไทย