ภูเก็ต 22 ม.ค.- ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวฯ ประชุมรัฐมนตรีกระทรวงโรงแรมฯ เมียนมาร์ วางยุทธศาสตร์ด้านท่องเที่ยว-การลงทุน 2 ประเทศ บูมเศรษฐกิจทางน้ำมะริด-ระนอง-ภูเก็ต
วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรม เดอะนาคา ภูเก็ต นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมให้การต้อนรับนาย อู อ่อง เหมื้อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวเมียนมาร์ และคณะ ในการประชุมหารือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ระหว่างไทยและเมียนมาร์ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ธุรกิจการค้า จากประเทศเมียนมาร์ และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (พังงา,ระนอง,กระบี่,ตรัง และภูเก็ต) เข้าร่วมประชุม
นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้วันที่ 11-12 ม.ค.ที่ผ่านมา นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมคณะ เดินทางไปยังกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างไทย-เมียนมาร์ ด้านการท่องเที่ยว และการลงทุน โดยมีวาระสำคัญลงนามในข้อตกลงร่วมกันในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งสองประเทศ รวมถึงท่องเที่ยวทางน้ำ และต่อยอดนโยบาย Asean Connect ไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันอย่างยั่งยืน หลังการลงนามดังกล่าวไทยและเมียนมาร์ได้เร่งจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อลงมือทำตามข้อตกลงได้ทันทีที่ให้เกิดผลงานในปี 2560 ซึ่งเมียนมาร์ต้องการเน้นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล มะริด- ระนอง – ภูเก็ต
ด้านผู้ว่าฯ ภูเก็ต กล่าวว่า หากมีการร่วมมือระหว่างไทยและเมียนมาร์ จะทำให้ท่องเที่ยวทั้ง 2 ประเทศมีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยเฉพาะท่องเที่ยวทางทะเลเพิ่มขึ้น และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในอนาคต ซึ่งจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันของประเทศไทยมีศักยภาพในการต้อนรับนักท่องเที่ยวทางทะเล เพราะมีความพร้อมในทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงาม ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวทางทะเลโดยเรือสำราญหรือเรือยอร์ชได้รับความนิยมอย่างยิ่ง อีกทั้งภูเก็ตเป็นจุดที่มีเรือยอร์ชเข้ามาจำนวนมาก รัฐบาลจึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวด้วยเรือยอร์ช เพื่อสร้างแรงเหนี่ยวนำธุรกิจต่อเนื่อง เช่น มารีน่า อู่ต่อเรือและซ่อมเรือ คลับเฮ้าส์ และโรงแรม
ขณะที่นาย อู อ่อง เหมื้อน กล่าวว่า เมียนมาร์อยากให้ไทยพิจารณาการส่งเสริมให้มีการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ โดยเฉพาะการเพิ่มเส้นทางการบินระหว่างประเทศในเส้นทางเกาะสอง-มะริด-กรุงเทพ และเส้นทาง มะริด-ทวาย-กรุงเทพ ซึ่งสนามบินมะริดยังมีข้อจำกัดในการรองรับได้เพียงเครื่องบินขนาดกลาง และขนาดเล็ก.-สำนักข่าวไทย