กรุงเทพฯ 22 ม.ค.-นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทยกล่าวถึงการแนวทางการปรองดองของรัฐบาลในขณะนี้ ว่าเป็นเรื่องที่ดีที่หลายฝ่ายเริ่มส่งสัญญาณสนับสนุนกระบวนการปรองดองที่ คสช.จะทำให้เป็นรูปธรรมภายในปี60 นี้ ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ก็มีข้อห่วงใหญ่และข้อพิจารณา เพราะอาจสร้างปัญหาใหม่ตามมา รวมทั้งการออกมาตรการต่างๆก็ต้องจัดลำดับก่อนหลังให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดความหวาดระแวงและสับสนจนไปต่อไม่ได้ เช่น หนึ่งในข้อเสนอปรองดองที่จะให้คู่ขัดแย้งทางการเมืองมาทำข้อตกลงหรือเอ็มโอยู เพื่อนำไปสู่การยุติความขัดแย้งนั้น เป็นมาตรการหนึ่งที่น่าพิจารณา แม้ยังเป็นแค่แนวคิด แต่เร็วเกินไปที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะการทำข้อตกลงใดๆ ก็ตามต้องผ่านการออกแบบ ต้องมีความชัดเจนทุกฝ่ายยอมรับถึงจะเกิดขึ้นได้
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า โจทย์หลักที่คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ต้องพิจารณาในประเด็นปรองดองนั้น มี 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.เจ้าภาพ ซึ่งต้องได้คนที่น่าเชื่อถือได้รับการยอมรับที่สูง ประสานทุกฝ่ายได้ไม่ใช่ต้องใช้กฎหมาย ใช้คำสั่งกำกับควบคุมทั้งหมด 2.รูปแบบหรือกระบวนการต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และต้องมีความต่อเนื่องเพราะเรื่องนี้ทำให้เสร็จภายในปีเดียวไม่ได้แน่นอน 3.เนื้อหา ต้องยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรมแสวงหาข้อเท็จจริงให้มากเพราะบางคดีหรือบางข้อกล่าวหา เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองและเกินจริง ดังนั้นเนื้อหาต้องตอบโจทย์ทั้งเฉพาะหน้าและการแก้ปัญหาระยะยาว และต้องไม่ให้สังคมรู้สึกว่าเป็นการฮั้วหรือฟอกผิดใครโดยเฉพาะคดีทุจริต คดีอาญาร้ายแรงมีหลักฐาน และคดีความผิดมาตรา 112 ที่สำคัญต้องเดินที่ละก้าวแสวงหาความเข้าใจและความร่วมไม้ร่วมมือให้มากที่สุด การใช้อำนาจหักดิบเพื่อปรองดองนั้นจะส่งผลเสียในระยะยาวมากกว่า.-สำนักข่าวไทย