กรุงเทพฯ 23 ม.ค. – 23 หน่วยงานประกาศเจตนารมณ์สร้าง Bioeconomy ตามนโยบายประชารัฐ สู่การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม New S-Curve ทุ่มเงินลงทุน 400,000 ล้านบาทใน 10 ปี
คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ซึ่งมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าทีมภาครัฐ และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชนจัดพีธีลงนามความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ภายใต้โครงการประสานพลังประชารัฐ ด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (D5:New S-Curve) ของ 23 หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและวิจัย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธี กล่าวว่า เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพของไทยที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยใช้พืชเศรษฐกิจที่ไทยมีความพร้อม เช่น มันสำปะหลังและอ้อยเป็นพืชนำร่อง ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมจะต้องต่อยอดด้วยการสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรมของไทยสู่ Bioeconomy หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการ 3 เรื่อง คือ ยกระดับเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยมองภาพรวมทั้งประเทศและต้องนำร่องว่าสินค้าเกษตรใดมีอนาคตและโลกต้องการ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ พลังงาน เป็นต้น ประการที่ 2 ต้องทำให้ดีกว่าไบโอโพลิสของสิงคโปร์ เพราะไทยอยู่ในจุดที่ได้เปรียบเป็นประเทศเกษตรกรรมและต้อง Inclusive growth โดยการผลิตจะต้องคิดว่าภาคเกษตรได้อะไรบ้าง อย่าทำลายระบบนิเวศ ต้องทำให้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้น ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันและช่วงต่อไปให้มีภาคประชาชนรายย่อยด้วย โดยจะชี้เป้าว่าจะให้สินค้าใดมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นและต่อวงจรให้ครบ ทั้งหมดนี้ คือ ประเทศไทย 4.0 ที่ตั้งใจไว้ และสุดท้าย คือ สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมชี้ให้ชัดเจนว่าจะให้มีการลงอะไรบ้างในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยต้องให้เกิดขึ้นภายในปีนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพประกาศแผนการลงทุนระยะเวลา 10 ปี มูลค่าประมาณ 400,000 ล้านบาท โดยเฟส 1 ระหว่างปี 2560-2561 เม็ดเงินลงทุน 51,000 ล้านบาท เริ่มต้นทันทีที่จังหวัดระยอง พร้อมขยายสู่เขตอีสานตอนกลางในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง และปีที่ 10 จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยได้มากกว่า 300,000 ล้านบาทต่อปี มันสำปะหลังกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี โดยเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 75,000 บาทต่อคนต่อปี จ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งโรงงานผลิตและการวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 20,000 ตำแหน่ง และที่สำคัญยังเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ฟอสซิลได้มากถึง 70 ล้านตัน เป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อประชาคมโลกที่นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกันนี้จะบริหารจัดการรูปแบบเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farming) เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชเกษตรที่มีคุณภาพและผลผลิตสูงด้วยต้นทุนต่ำลง อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนวัตถุดิบทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (Biorefinery) และสร้างเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร (Biopolis) ที่มีระบบคมนาคมทันสมัย ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการครบวงจร และสถาบันวิจัยขั้นสูง
สำหรับ Bioeconomy เป็นการนำ 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ เกษตรกรรมสมัยใหม่ และ Biorefinery มาบริหารจัดการ ด้วย Technology และ Research and Development เพื่อให้เกิดคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมไปเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดย Bioeconomy จะใช้สินค้าเกษตรจากมันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรไทยส่งออกเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก เป็นตัวนำร่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมลักษณะห่วงโซ่ที่เพิ่มมูลค่า (Value Chain) ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เช่น เอทานอล พลังงานไฟฟ้าชีวมวล เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกที่มั่นคงและแข่งขันได้ อุตสาหกรรมชีวเคมี ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ที่จะเข้ามาเป็น Ingredient ผสมในอาหารแทนการใช้สารเคมี หรือแม้แต่ผสมในอาหารสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับโปรตีนจากธรรมชาติที่ดีมีความสมบูรณ์ ตลอดจนอุตสาหกรรมทางชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่และมีอนาคตและต้องมีการลงทุนทางด้าน Research and Development สูง
นายอุตตม กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา Bioeconomy เป็นกระแสที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด สำหรับไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เพราะมีกลุ่มเกษตรกรที่มีความสามารถสร้างผลิตผลการเกษตรที่มีคุณภาพ มีความเข้มแข็ง ในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานชีวภาพที่มีความพร้อม เพื่อพัฒนาไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า Bioeconomy ซึ่งกลุ่มประชารัฐกำลังจัดทำ Roadmap สำหรับ Bioeconomy โดยจะเริ่มต้นขับเคลื่อนในพื้นที่ EEC ที่มีฐานอยู่เดิม ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร หุ่นยนต์ และอากาศยาน การเริ่มต้นของ Bioeconomy สามารถเริ่มต้นได้ทันทีที่จังหวัดระยอง และจาก Roadmap ที่วางไว้จะสามารถขยายไปยังภาคอีสาน อีกด้วย
สำหรับการลงนามครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหนึ่งพลังใหม่ในการขับเคลื่อนสู่การมีส่วนร่วมและการสร้างผลประโยชน์ให้เกิดแก่ทุกภาคส่วน (Inclusive Growth) การสร้างความแข็งแกร่งจากภายในประเทศและจากความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว (Productive Growth) รวมความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ที่จะเกื้อหนุนประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและประเทศไทย 4.0 ได้
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการ Bioeconomy ประกอบด้วยภาคเกษตรกรรม และ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ พลังงานชีวภาพ ชีวเคมีภัณฑ์ อาหารแห่งอนาคต อาหารสัตว์แห่งอนาคต และชีวเภสัชภัณฑ์ โดยกระทรวงพลังงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพที่จะสามารถพัฒนาต่อยอด ได้ก่อน เนื่องจากพัฒนาระดับหนึ่งแล้ว ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนปี 2558-2579 (Alternative Energy Development Plan 2015) ที่มีเป้าหมายที่จะลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน การกำหนดให้มีการใช้พลังงานทดแทนในอัตราร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานของประเทศและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 70 ล้านตัน
ทั้งนี้ พลังงานชีวภาพจากโครงการประชารัฐเป็นการพัฒนาต่อยอดจากการใช้พลังงานทดแทนที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ จะเริ่มต้นจากพืชเกษตรเป้าหมายที่ทางคณะกรรมการประชารัฐ D5 เห็นว่ามีความเหมาะสมในการนำไปพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าได้ก่อน ได้แก่ มันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรต้นน้ำที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ซึ่งพืชเกษตรทั้ง 2 ชนิดนี้กระทรวงพลังงานนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่แล้วคือเอทานอลที่นำไปผสมกับน้ำมันเบนซินเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 E20 และ E85 แต่ภายใต้โครงการนี้ กระทรวงพลังงานเห็นว่าพืชเกษตรทั้ง 2 ชนิดนี้ยังสามารถพัฒนาต่อยอดขึ้นไปได้อีก อาทิ การนำเอทานอลไปผสมกับน้ำมันดีเซลหรือที่เรียกว่าดีโซฮอล โดยเป็นการผสมน้ำมันไบโอดีเซล B7 ร้อยละ 90 กับเอทานอลในอัตราส่วนร้อยละ 10 การพัฒนาก๊าซมีเทนชีวภาพอัด (Compressed Bio-Methane Gas หรือ CBG) ทั้งจากน้ำเสียและวัตถุดิบที่มาจากอุตสาหกรรมอ้อยและมันสำปะหลังเพื่อนำมาใช้แทนก๊าซ NGV ในภาคขนส่ง รวมถึงการเข้าไปปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าในโรงงานน้ำตาลเพี่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หลักการของเศรษฐกิจชีวภาพมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืน เศรษฐกิจชีวภาพจึงเป็นรูปแบบการพัฒนาที่สอดคล้องตามกระบวนทัศน์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs “เศรษฐกิจชีวภาพ” จึงเป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคตของทั่วโลก รวมถึงไทยนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบชีวภาพและทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่มากของแต่ละประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมให้การสนับสนุนทุกด้าน ทั้งร่วมวิจัยพัฒนาและการให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มีเมืองอุตสาหกรรมอาหาร (Food Innopolis) มีศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ (Food Feed Innovation Center) ที่เป็น One-Stop Service ส่งเสริมให้ SMEs ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ศูนย์ชีววัสดุแห่งประเทศไทยที่ให้บริการจุลินทรีย์ที่ได้มาตรฐานสากล มีจุลินทรีย์ที่พร้อมให้บริการมากกว่า 70,000 สายพันธุ์ นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้พัฒนาระบบการให้บริการเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบเบ็ดเสร็จ (MOST One Stop Service) ที่เชื่อมโยงและบูรณาการเครื่องมือและปัจจัยเอื้อต่างๆ ที่มีอยู่ภายใน
นายประเสริฐ กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ว่า แผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนา Bioeconomy ระยะ10 ปี มีกรอบการลงทุนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560-2561 เงินลงทุนประมาณ 51,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ อาหาร และชีวเภสัชภัณฑ์ ผลักดันการสร้างอุปสงค์และตลาด ระยะ 2 ปี 2562-2564 เงินลงทุนประมาณ 182,000 ล้านบาท เพื่อสร้าง Biorefinery Complexes ที่ครบวงจร และเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมอย่างครบวงจร Biopolis และระยะที่ 3 ปี 2565-2569 เม็ดเงินลงทุนประมาณ 132,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับสู่ Regional Hub เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและ วิจัยครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของทั้ง 3 ภาคส่วน ทำหน้าที่ร่วมกันสร้าง เศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจคลื่นลูกใหม่ ตามนโยบายประชารัฐ ซึ่งทั้ง 3 ภาคส่วนจะร่วมมือกันทำให้เกิดความเชื่อมโยง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะเข้าใจความต้องการของกันและกันมากขึ้น ภาคการศึกษาและวิจัย จะมีโจทย์ที่ชัดเจนขึ้น ในการพัฒนา เทคโนโลยีที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนา Bioeconomy ตั้งแต่ Lab-scale จนถึงโรงงานต้นแบบ ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน อย่างแท้จริง และส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็น Bio Hub ของโลก ไทยจะเป็นผู้นำทั้งการเป็นผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคตของโลก เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้าน Bioeconomy ของโลก รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ และเป็นส่วนหนึ่งของ Global Supply Chain ได้ในที่สุด.-สำนักข่าวไทย