นนทบุรี 23 ม.ค. – พาณิชย์เผยส่งออกปี 59 พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 4 ปี โดยเป็นบวกร้อยละ 0.45 ส่วนปีนี้คาดยังโตต่อเนื่อง หากภาวะการค้าโลกดีขึ้นมีโอกาสลุ้นขยายตัวถึงร้อยละ 5 แต่คาดการณ์น่าจะเป็นบวกร้อยละ 2.5-3.5
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธสาสตร์การค้า กล่าวว่า การส่งออกปี 2559 สามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในรอบ 4 ปี โดยขยายตัวร้อยละ 0.45 ด้วยมูลค่า 215,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่การส่งออกขยายตัวสูงสุดเป็นอันดับ 8 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แม้ว่าภาพรวมการค้าของโลกยังชะลอตัว โดยการขยายตัวของการส่งออกได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ทำให้คู่ค้าหลายประเทศเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการปรับแผนส่งออกในการหาตลาดใหม่และรักษาตลาดเดิม ทำให้การค้าทั้งตลาดหลักและตลาดอื่นยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ตัวเลขการนำเข้าแม้ภาพรวมปี 2559 จะติดลบร้อยละ 3.9 หรือมีมูลค่า 195,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยเป็นการนำเข้าประเภทเครื่องจักร สินค้าทุน และวัตถุดิบ เพื่อการผลิต ส่งผลให้ขยายตัวทำให้เห็นแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันดุลการค้าของไทยปี 2559 เกินดุลสูงถึง 20,659 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดุลการค้าที่เกินดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และน่าจะส่งผลบวกต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย
ส่วนการส่งออกปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.5-3.5 และหากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ากลับมาขยายตัวดีขึ้นมากมีโอกาสที่การส่งออกจะขยายตัวถึงรัอยละ 5 เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นอยู่ในกรอบ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขการส่งออกปี 2559 และปีนี้ได้รายงานนายกรัฐมนตรีให้รับทราบแล้ว โดยตัวเลขประมาณการณ์ส่งออกปีนี้ยังไม่ได้รวมความเสี่ยงนโยบายของสหรัฐที่ต้องติดตามหลังจากนี้ไปจะมีประกาศอะไรออกมาที่จะกระทบต่อตลาดการค้าของโลกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามอย่างใกล้ชิดและวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่งต่อไป
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงโดยเฉพาะนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อไทย โดยนโยบายสหรัฐที่กีดกันการค้าจีนกับเม็กซิโกอาจจะกระทบมายังไทย เพราะจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย รวมถึงการที่สหรัฐอาจปรับขึ้นภาษีสำหรับสินค้าจากจีนอาจจะส่งผลให้ราคาสินค้าของจีนสูงขึ้นและอาจส่งผลต่ออสินค้าไทยที่มีความใกล้เคียงกับจีน เช่น เครื่องจักร และอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ราคาสูงขึ้น เพราะการขึ้นภาษีด้วย
ขณะเดียวกันหากจีนถูกสหรัฐกดดันอาจทำให้จีนต้องปรับการลงทุนมายังเอเชียและอาเซียนมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐและอาจส่งผลต่อค่าเงินหยวนของจีนให้แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลดีให้สินค้าแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น รวมทั้งการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของสหรัฐน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารของไทย นอกจากนี้ มั่นใจว่าสหรัฐไม่น่าจะถอนการลงทุนจากไทย แม้ว่านโยบายทรัมป์จะเน้นการดึงดูดการลงทุนภายในสหรัฐ เพราะสหรัฐลงทุนในสายการผลิต แต่นโยบายของทรัมป์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและมีการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลให้เกิดควาทผันผวนทางด้านการค้า รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้ส่งออกต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ด้วย.-สำนักข่าวไทย