กรุงเทพฯ 16 มี.ค. – รัฐ-เอกชนมั่นใจส่งออกดีขึ้น หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย ทีดีอาร์ไอชี้ต้องแก้กฏหมายนับแสนฉบับหากให้ไทยแข่งได้ในอนาคต
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด 0.25% ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ให้ดีขึ้น และมีโอกาสในการขยายตัวได้ 5% ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้% มีมูลค่าการส่งออกเดือนละไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นและทำให้ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลง. แต่ อาจจะกระทบต้นทุนนำเข้าเช่นราคานำเข้าเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้น
นางพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นไปตามที่คาดไว้ และถือเป็นสัญญาณที่ดีว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐ ในกลุ่ม อาหารและ สินค้าเกษตรฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้ และทำให้ราคาสินค้าเกษตรในไทยมีโอกาสปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย โดยปัจจุบันสหรัฐฯ มีสัดส่วนการส่งออก 9.7% ของการส่งออกทั้งหมด
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยเฟดทำให้ผู้ส่งออกผ่อนคลายมากขึ้นเพราะเฟดแสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกดีขึ้นคาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวร้อยละ2-3 เงินบาทจะอ่อนค่าลงเคลื่อนไหวที่35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องอาจลดลง จากเงินทุนไหลออก ดอกเบี้ยขยับขึ้น และต้องติดตามผลกระทบหากนายโดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐจะมีนโยบายกีดกันทางการค้าจนส่งผลกระทบมายังไทย รวมทั้งผู้ประกอบการต้องรักษาฐานตลาดเพราะปัจจุบันตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับแผนฯให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติระยาว 20ปี โดยหนึ่งในเป้าหมายคือยกระดับให้ไทยเป็นชาติการค้า โดยให้ ทีดีอาร์ไอ เข้ามาศึกษา
โดยมีข้อเสนอเบื้องต้นให้1.ปฎิรูปนโยบายประเทศด้านการค้าและการลงทุน 2.ปฎิรูปกฎหมายให้เอื้อต่อการลงทุน 3.ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและ 4.ปฎิรูปภาษี ซึ่งหากทำได้ก็จะทำให้ไทยก้าวสู่การเป็นชาติการค้าได้ภายใน 3-5 ปีจากนี้โดยกฏหมายมีนับแสนฉบับ โดย
ต้อง ปฎิรูปกฎหมายกว่า 300-400 ฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนเช่น การขออนุญาตต่างๆ พ.ร.บ.ต่างด้าว ในบัญชี 3 เป็นต้น-/
อันดับแรกต้อง แก้กฎหมายกว่า 300-400 ฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนควรจะเปิดเสรีให้เกิดการลงทุนในธุรกิจแวร์เฮ้าส์ โลจิสติกส์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและบัญชี เป็นต้น จะทำให้อันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทยขยับขึ้นจากปัจจุบัน 46 มาอยู่อันดับที่ 23 ภายใน 3-5 ปี และส่งให้ไทยเป็นชาติการค้าได้เร็วขึ้น” นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)กล่าว
นอกจากนี้ ไทยจำเป็นต้องปรับปรุงช่องทางการค้าที่มีอยู่ทั้งในช่องทางการค้าทั่วไป ด้วยการส่งเสริมให้มีบริษัทการค้า (เทรดดิ้ง เฟิร์ม) หรือเป็นลักษณะของการร่วมตัวกันของผู้ส่งออก ปรับช่องทางการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์,ไทยจำเป็นต้องลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ลดความซับซ้อนและลดความผิดพลาด สร้างความโปร่งใสในการดำเนินการ รวมทั้งส่งเสริมข้อมูลด้านการตลาดของภาครัฐ เพราะต่อไปจะเป็นหัวใจของการเป็นชาติการค้า
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่าอุปสรรคของไทย คือปัญหาการเมืองที่ขัดแย้งมาโดยตลอดทำให้ติดหล่มไม่มีการพัฒนาการการค้าทั้งที่10 ปีที่ผ่านมาโลกการค้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งจากเทคโนโลยี ระบบการค้า โอกาสของประเทศเปิดใหม่ ประเทศอื่นๆทำการเกษตรได้มากขึ้น ดังนั้น หากไทยจะมองถึงการปกป้องไม่เปิดเสรีเลย ก็คงแข่งขันลำบาก- สำนักข่าวไทย