อังกฤษ 31 ม.ค. – นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามไม่หยุดยั้งที่คิดค้นพลังงานทดแทนขึ้นมาใช้ โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่อย่างล้นเหลือ ไม่ว่าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังลม หรือพลังงานจากขยะ รวมถึงของเสียที่ถูกขับออกจากร่างกายของคนเรา
แบบนี้ไม่รู้จะเรียกว่า “พลังงานสะอาด” ได้หรือเปล่า แต่นักวิจัยบอกว่าไม่เฉพาะปัสสาวะเท่านั้นที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เพราะเคยทดลองใช้อินทรีย์วัตถุอย่างอื่น เช่น น้ำตาล หรือซากแมลงที่ตายแล้ว ก็ทำได้เหมือนกัน
หนุ่มคนนี้ไม่ได้กำลังเข้าไปปลดทุกข์อย่างเดียว แต่กำลังบริจาคปัสสาวะเพื่อใช้ในการทดลองด้วย เพราะที่ศูนย์วิจัยพลังงานชีวภาพบริสตอล University of the West of England ในประเทศอังกฤษ กำลังทำการทดลองอย่างจริงจังที่จะใช้น้ำปัสสาวะผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ผ่านมาโครงการทดลองนี้ดูเหมือนจะได้ผลดี
จากการนำปัสสาวะใส่ลงไปในชุดอุปกรณ์ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ แล้วต่อสายไฟชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าน้ำปัสสาวะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้จริง หลักการทำงานไม่มีอะไรยุ่งยาก เกิดจากจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในปัสสาวะของคนเราทำปฏิกิริยาทางเคมีจนเกิดประจุอิเล็กตรอนขึ้น และเปลี่ยนไปสู่กระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งจากการทดลองที่ผ่านมายิ่งปัสสาวะสดใหม่ก็จะยิ่งผลิตไฟฟ้าได้ดี ปริมาณปัสสาวะ 600 มิลลิลิตร เพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าเพื่อชาร์จโทรศัพท์มือถือเป็นเวลา 6 ชั่วโมง และสามารถนำโทรศัพท์ไปใช้งานได้นานถึง 3 ชั่วโมง
ที่สำคัญชุดอุปกรณ์ที่ใช้ก็มีราคาถูกมาก ทำจากวัสดุประเภทเซรามิกและถ่านคาร์บอน ชุดหนึ่งมีต้นทุนเพียง 1 ปอนด์ (ราว 45 บาท) แถมปัสสาวะก็มีให้ใช้มากมายล้นเหลือ อีกทั้งกระบวนการทำงานก็เท่ากับเป็นการกำจัดของเสียที่ถูกขับถ่ายจากร่างกายมนุษย์ไปด้วยในตัว
ก่อนหน้านี้ นักวิจัยเคยทำการทดลองในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น ตอนกลางวัน กลางคืน อากาศร้อน อากาศเย็น และบนดิน ใต้ดิน ซึ่งก็พบว่าได้ผลไม่แตกต่างกัน
งานเทศกาลดนตรี Glastonbury ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนมิถุนายน ถือว่าเหมาะอย่างยิ่งที่จะทำการทดลอง เพราะในช่วง 5 วันของเทศกาลดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมงานถึงราว 175,000 คน ซึ่งพร้อมและเต็มใจอย่างยิ่งที่จะบริจาคปัสสาวะให้โครงการวิจัย แถมยังรู้สึกสนุกสนานที่พอปัสสาวะปุ๊บ หลอดไฟในห้องสุขาก็สว่างปั๊บขึ้นมาทันที
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ชุดอุปกรณ์ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปติดตั้งตามที่ต่าง ๆ ได้ง่าย จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ในปีนี้มูลนิธิบิลล์ และเมลินดา เกทส์ ร่วมกับ Oxfam มีโครงการที่จะนำชุดผลิตไฟฟ้าจากปัสสาวะนี้ไปติดตั้งให้ตามค่ายผู้อพยพหลายแห่งในทวีปแอฟริกาด้วย. – สำนักข่าวไทย