สำนักข่าวไทย 31 ม.ค – กระทรวงแรงงาน เผยอียูพอใจการแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมงของไทย ซึ่งมีทิศทางดีขึ้น
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ว่า การเดินทางไปชี้แจงของกระทรวงแรงงานคณะผู้แทนประเทศไทยที่สำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป (อียู)ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมนั้น สามารถให้ข้อมูลถึงผลการแก้ปัญหาอย่างจริงจังกับทางการอียูได้รับทราบถึงความพยายามของกระทรวงแรงงานในการแก้ปัญหาตามข้อสังเกตของสหภาพยุโรป (อียู) ในทุกด้านจนได้รับความพึงพอใจ
นายสุทธิ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและติดตามสถานการณ์แรงงาน (ศปคร.) กระทรวงแรงงาน ระบุว่าปัจจุบัน มีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในภาคประมงผ่านศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) และระบบนำเข้าตามความตกลงระหว่างรัฐ (MOU) รวม 343,511 คน แยกเป็น ประมง 78,290 คน และแปรรูปสัตว์น้ำ 265,221 คน
ทั้งนี้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยทุกคนได้ทำงานแบบถูกต้องตามกฎหมาย โดยผ่านกระบวนการตรวจสัญชาติ และดำเนินการตามกรอบ MOU จึงได้มีการเจรจากับประเทศต้นทางอย่างต่อเนื่องให้นำเข้าแรงงานในภาคประมง เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ โดยจะทำควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายและการยกระดับสภาพการจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และสหภาพยุโรป (EU) ผ่านโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อการต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล (Ship to Shore Rights Project) ทั้งนี้ เพื่อยกระดับสภาพการจ้างแรงงานในภาคประมงให้เป็นสากล สามารถทำงานอย่างไร้ความกังวล โดยการปฏิบัติซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงานจะดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่ได้มีการหารือร่วมกันไว้กับสหภาพยุโรปต่อไป.-สำนักข่าวไทย