กรุงเทพฯ 31 ม.ค. – เชลล์ขายหุ้นแหล่งบงกชร้อยละ 22.222 ให้ Kuwait Foreign Petroleum Exploration มูลค่า 900 ล้านดอลลาร์ฯด้านอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุเป็นเรื่องปกติของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
เชลล์ทำการตกลงขาย Shell Integrated Gas Thailand Pte Limited และ Thai Energy Company Limited ให้แก่ KUFPEC Thailand Holdings Pte Limited ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Kuwait Foreign Petroleum Exploration Company (KUFPEC) การซื้อขายบริษัทในเครือทั้งสองซึ่งมีสัดส่วนหุ้นรวมทั้งหมดร้อยละ 22.222 ในแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชนอกฝั่งทะเลตอนใต้ของประเทศไทย ประกอบด้วย แปลงหมายเลข 15 แปลงหมายเลข 16 แปลงหมายเลข 17 และแปลงหมายเลข G12/48 มูลค่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าการซื้อขายดังกล่าวจะเรียบร้อยไตรมาสแรกปีนี้
แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างเชลล์ร้อยละ 22.222 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ร้อยละ 44.445 และบริษัท Total ร้อยละ 33.333 สำหรับการซื้อขายดังกล่าวต่อเนื่องจากเชลล์เคยมีประกาศเรื่องจะมีการทบทวนแผนการลงทุนทั้งหมดเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตั้งเป้าขายสินทรัพย์ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์โดยรวมที่ต้องการบริหารสัดส่วนการลงทุนให้มีความเหมาะสมภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการของกลุ่ม BG ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวไม่มีผลกระทบกับสัดส่วนของสิทธิสัมปทานของเชลล์ในแปลงหมายเลข 7 แปลงหมายเลข 8 และ แปลงหมายเลข 9 เชลล์ยังคงเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการขยายธุรกิจทั้งการค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยต่อไป
ด้านนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ถือเป็นการดำเนินการตามปกติของธุรกิจสำรวจและปิโตรเลียม ทาง Kuwait ทราบดีว่าแหล่งบงกชจะหมดอายุสัมปทานปี 2566 และครั้งนี้ถือเป็นการเสนอราคาจากเชลล์และผู้ที่เสนอราคาดีที่สุดได้รับการคัดเลือก โดยเร็ว ๆ นี้ผู้บริหาร Kuwait จะพบเพื่อแจ้งให้ทราบถึการเข้ามาลทุนในไทย โดยถือเป็นครั้งแรกที่ Kuwait เข้ามาลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งก่อนหน้านี้ร่วมเสนอราคาในโครงการสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 20 แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก และการที่บริษัท Kuwait เป็นหนึ่งในสิบของบริษัทยักษ์ใหญ่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมของโลกลงทุนในไทย แสดงให้เห็นว่ามีความมั่นใจในการลงทุนแม้แปลงในไทยจะเป็นแปลงขนาดเล็ก และน่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ดีสำหรับการเปิดให้เอกชนยื่นเข้าแข่งขันในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ไม่ว่ารอบ 21 และการประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565 – 2566 คือ แหล่งเอราวัณและบงกช โดยทั้งหมดต้องรอความชัดเจนในการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม .-สำนักข่าวไทย