กัมพูชา 2 ก.พ. – ปี 2559 ถือเป็นปีที่ไม่ค่อยสดใสนักของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทย แต่สำหรับประเทศกัมพูชา ตลาดอสังหาฯ บูมต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว จนเริ่มเกิดความวิตกว่าจะกลายเป็นฟองสบู่
มีผลการศึกษาพฤติกรรมของผู้ซื้อบ้านในประเทศแถบอาเซียน เช่น ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย พบว่าตลาดคอนโดมิเนียมต้องใช้เวลาประมาณ 7 ปี จึงจะเริ่มเปลี่ยนแปลงทัศนคติให้คนหันมานิยมอยู่คอนโดฯ ได้มากขึ้น
ข้อมูลจากรัฐบาลกัมพูชาระบุว่า การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เติบโตขึ้นจาก 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2014 เป็นกว่า 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558 และยังคงเติบโตต่อเนื่องทะลุ 7,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปีที่แล้ว หากนับเฉพาะช่วง 7 เดือนแรกของปี 2016 ตัวเลขลงทุนในอสังหาฯ ขยายตัวถึง 719% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีโครงการเกิดใหม่ที่ได้รับอนุมัติแล้วประมาณ 2,000 โครงการ คิดเป็นพื้นที่รวมกันกว่า 10.5 ล้านตารางเมตร
ขณะที่ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ มีโครงการเกิดใหม่รวมกันราว 12,000 ยูนิต แต่เพียงช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขพุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 3 เท่าตัว เป็น 36,000 ยูนิต ทำให้เริ่มเกิดกระแสวิตกกังวลว่าอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเพื่อนบ้านเรากำลังจะเข้าสู่ยุคฟองสบู่
โครงการส่วนใหญ่อยู่ในกรุงพนมเปญ มีทั้งคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ โรงแรมหรู และอาคารสำนักงานระดับ High-end อย่างโครงการคอนโดมิเนียมชื่อว่า The Bridge เป็นอาคารสูง 45 ชั้น รวมกว่า 1,500 ยูนิต มูลค่าถึง 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรืออภิมหาโปรเจกต์ชื่อ Orkide ประกอบด้วย คอนโดมิเนียมกว่า 1,400 ยูนิต ร้านค้า 224 ร้าน บ้านพักอาศัยแบบวิลล่า 630 หลัง รวมถึงภัตตาคาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์ฟิตเนส สวนสาธารณะ และสถานบันเทิงอีกมากมาย แต่ละยูนิตมีราคาเฉลี่ย 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.75 ล้านบาท)
การเฟื่องฟูของธุรกิจอสังหาฯ ในกัมพูชา มาจากนักลงทุนทั้งที่เป็นคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ด้วยบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออำนวย ทำให้กัมพูชาเป็นประเทศที่เนื้อหอมอย่างมากสำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยคาดการณ์ว่าในระยะยาวผลตอบแทนการลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 5% เทียบกับอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ ที่ให้ผลตอบแทนราว 2%
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความเสี่ยงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจากความกังวลว่าจะล้นตลาด หรือการเก็งกำไร ราคาที่พุ่งขึ้นอย่างมากจนผิดปกติแล้ว นักวิเคราะห์ยังเตือนให้คำนึงถึงความต้องการของคนซื้อด้วย เพราะต้องยอมรับว่าชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ยังนิยมที่อยู่อาศัยแนวราบ เช่น บ้าน-เดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ หรืออาคารพาณิชย์แบบห้องแถว ซึ่งเป็นได้ทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำธุรกิจมากกว่าการอยู่ในคอนโดมิเนียม. – สำนักข่าวไทย