น่าน 3 ก.พ.- ราชบัณฑิตยสภาเดินสายทุกภูมิภาคระดมความเห็นนักวิชาการ-ปราชญ์ท้องถิ่นร่วมจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยถิ่น เพื่อรณรงค์การใช้ที่ถูกต้อง หวั่นเลือนหายไปตามยุคสมัย ชี้ภาษาถิ่นยังบ่งบอกถึงวัฒนธรรมหลากหลายด้วยสำเนียงต่างกัน
ศ.ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยถิ่น ภาคเหนือ เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมและภาษา ปราชญ์ชาวบ้าน จ.น่าน และจ.แพร่ ที่ห้องประชุมโรงแรมเทวราช เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และนำข้อมูลภาษาไทยท้องถิ่นแต่ละภูมิภาคมาจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยท้องถิ่นฉบับราชบัณฑิตยสภา เป็นมาตรฐานของประเทศสำหรับใช้อ้างอิงทางวิชาการ รวมทั้งส่งเสริม เผยแพร่ และรณรงค์การใช้ภาษาไทย-ภาษาถิ่นให้ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังขยายขอบเขตการรณรงค์ให้มีการใช้ภาษาถิ่นอย่างกว้างขวางเพื่อไม่ให้ภาษาถิ่นสูญหาย ด้วยตระหนักว่าภาษาถิ่นก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่น และบ่งบอกถึงความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่ควรอนุรักษ์และสืบทอดให้คงอยู่ตลอดไป
ศ.ดร.ประคอง กล่าวว่า ภาษาถิ่นถือเป็นภูมิปัญญาและวัฒนธรรม หากภาษาถิ่นเลือนหายไปก็ส่งผลต่อวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน เนื่องจากวัฒนธรรมบางอย่างมีความสอดคล้องกับภาษาถิ่น เมื่อคนในท้องถิ่นไม่ใช้ภาษาถิ่น ก็จะทำให้วัฒนธรรมค่อยๆ เลือนหายไป นอกจากนี้ ภาษาถิ่นยังเป็นวัฒนธรรมที่มีความสวยงาม ไพเราะ เนื่องจากการพูดภาษาในแต่ละท้องถิ่นนั้นจะมีเสียงสำเนียงแตกต่างกันไป คาดว่าจะเร่งดำเนินการให้พจนานุกรมภาษาถิ่นจะแล้วเสร็จภายใน 5 ปี โดยต้องขอความร่วมมือกับทางนักวิชาการท้องถิ่นในการช่วยอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เป็นมาตรฐานมากที่สุด.-สำนักข่าวไทย