กรุงเทพฯ 6 ก.พ. – นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลัง ประชุมคณะกรรมการ รฟม. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 23 กิโลเมตร ภายหลังคณะกรรมการประกวดราคา ต่อรองราคากับบริษัทเอกชนที่ชนะการประกวดราคา โดย 6 สัญญา แบ่งเป็น งานโยธา โครงสร้างใต้ดิน 3 สัญญา โครงสร้างยกระดับ 1 สัญญา ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถ 1 สัญญา และการวางราง 1 สัญญา หลังจากนี้ รฟม.จะลงนามสัญญาวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีลงนาม
สำหรับวงเงินราคาการก่อสร้างหลังจากคณะกรรมาการประกวดราคาเจรจาต่อรองราคากับบริษัทเอกชนที่ชนะการประกวดราคา ทั้ง 6 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – รามคำแหง 12 CKST JOINT VENTURE (ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)) เสนอราคา 20,698 ล้านบาท ต่อเจรจาปรับลดเหลือ 20,633 ล้านบาท สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12 – หัวหมาก CKST JOINT VENTURE เสนอราคา 21,572 ล้านบาท ต่อรองเหลือ 21,507 ล้านบาท
สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหัวหมาก – คลองบ้านม้า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 18,589 ล้านบาท ต่อรองเหลือ 18,570 ล้านบาท สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงคลองบ้านม้า – สุวินทวงศ์ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เสนอราคา 9,999 ล้านบาท ต่อรองเหลือ 9,990 ล้านบาท สัญญาที่ 5 ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถ CKST JOINT VENTURE เสนอราคา 4,901 ล้านบาท ต่อรองเหลือ 4,831.24 ล้านบาท
สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบราง ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – สุวินทวงศ์ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เสนอราคา 3,750 ล้านบาท ต่อรองเหลือ 3,690 ล้านบาท รวมวงเงินการก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด 79,221 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่ตั้งไว้เดิม 79,726 ล้านบาท ลดลงประมาณ505 ล้านบาท หลังจากนี้ รฟม.จะเข้าพื้นที่ดูงานก่อสร้างตลอดแนวสายทางก่อนส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างต่อไป ซึ่งการก่อสสร้างจะใช้เวลา 5 ปี 6 เดือน และสามารถเปิดเดินรถได้ในปี 2566
นอกจากนี้ ภายหลังคณะกรรมการฯ เห็นชอบให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็มเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ช่วงหัวลำโพง-บางแค, บางซื่อ-ท่าพระ) ภายหลังการเจรจาของคณะกรรมการตามมาตรา 43 และ 35 คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ หาก ครม.อนุมัติวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ รฟม.จะลงนามสัญญาจ้างบีอีเอ็ม เดินรถช่วง1 สถานี โดยบีอีเอ็มจะใช้เวลา 6 เดือน ติดตั้งงระบบและทดสอบการเดินรถ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการวันที่ 9 สิงหาคมนี้.-สำนักข่าวไทย