กระทรวงยุติธรรม 9 ก.พ.-ศอตช.มอบให้อัยการสูงสุด ประสานขอข้อมูลโดยตรงจากอเมริกาและอังกฤษ กรณีทุจริตสอบสินบนโรลส์-รอยซ์
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน ศอตช.ทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ,สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ,และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มาร่วมกันประชุมกัน กรณีตรวจสอบสินบนโรลส์-รอยซ์ ถือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการนัดแรก หลังจากที่นายสุวพันธุ์ เข้ามาเป็นประธาน ศอตช.
นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการตรวจสอบสินบนโรลส์รอยซ์ ทาง ป.ป.ช. และ สตง.ได้รายงานความก้าวหน้าทางคดี ซึ่งว่ามีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก โดยทาง ป.ป.ช.ได้รับข้อมูลจากส่วนราชการภายในประเทศที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มแล้ว หลังจากนี้ทาง ป.ป.ช.จะต้องเดินหน้าแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ก่อนที่จะมีการตั้งอนุกรรมการตรวจสอบต่อไป
ส่วนกรณีของสินบนของ เจเนอรัล เคเบิ้ล และจอนนี่ วอล์คเกอร์ ทั้ง 2 กรณีทางด้านของ ป.ป.ช.รายงานมาว่ามีข้อมูลเดิมอยู่แล้ว โดยขณะนี้กำลังทำการสอบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อหาผู้กระทำผิดเกี่ยวข้องมาลงโทษต่อไป เช่นเดียวกับเรื่องกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ทาง ป.ป.ช.ก็กำลังเร่งหาข้อมูลเพิ่มเติมเช่นกัน
ส่วนเรื่องใหม่ที่ในที่ประชุมเห็นเพิ่มเติม คือ นอกจากหน่วยงานเดิมที่ตรวจสอบแล้ว ควรจะต้องเพิ่มมาตรการตรวจสอบ และหาคนกระทำผิดมาลงโทษให้เร็วยิ่งขึ้น จึงได้หารือกับสำนักงานอัยการสูงสุดใช้อำนาจหน้าที่ ตาม พรบ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่อง อาญา พ.ศ.2535 ซึ่งทางสำงานอัยการฯของไทย ได้มีการทำการตกลงกับทางสำนักงานอัยการสูงสุดของประเทศสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ทั้งสองประเทศจึงมีผู้ประสานงานกลาง โดยตรงกับไทย ดังนั้นที่ประชุมจึงได้ขอสำนักงานอัยการสูงสุดของไทย ประสานไปยังหน่วยงานอัยการ หรืออาจจะเป็น ป.ป.ช. หรือ ปปง.จากทาง ทั้งสองประเทศขอข้อมูลโดยตรง ซึ่งเป็นข้อมูลจากทางราชการที่นำมาใช้ประกอบการดำเนินคดีได้เลย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ตอนนี้คงยังไม่สามารถจะพูดสรุปได้ว่าจะใช้กฎหมายตัวไหน หรือว่าบุคคล หรือหน่วยงานใดเกี่ยวข้อในเรื่องนี้ ขอติดตามเอกสาร หลักฐานข้อมูลจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้านก่อนจึงจะตอบได้
นายสุวพันธุ์ ยังกล่าวอีกว่า วันนี้ได้มีการตั้งอนุกรรมขึ้นมาหนึ่งชุด โดยมีเลขา ปปท.เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามข้อมูลจากทุกหน่วยงาน รวมทั้งข้อขัดข้อง สิ่งที่อยากให้รัฐบาลสนับสนุนในการทำงานโดยเฉพาะในประเด็นการจัดการเรื่องการทุกจริตทั้งหมด ไม่เฉพาะในสองประเด็นดังกล่าวเพื่อนำเสนอรายงานให้ทางรัฐบาลรับทราบ รวมทั้งการไปศึกษาข้อเสนอจากหน่วยงานต่างๆที่จะนำมาใช้ในการปราบปรามบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ส่วนนี้รวมถึงประเด็นข้อเสนอ มาตรา 44 ของกระทรวงการคลัง ในเรื่องการเว้นโทษทางอาญาผู้ให้สินบนที่รับสารภาพด้วย.-สำนักข่าวไทย