กรุงเทพฯ 14 ก.พ. – ทอท. มั่นใจระบบตรวจสัมภาระ บนสายพาน (Inline screening ) สนามบินภูเก็ตจะแล้วเสร็จปลายมีนาคม 2560 ช่วยให้ปัญหาแออัด ของการตรวจค้นผู้โดยสารหน้าอาคารลดลง
นางมนฤดี เกตุพันธุ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต เปิดเผยว่า ขณะนี้การติดตั้งระบบตรวจสัมภาระบนสายพาน (Inline screening ) ท่าอากาศยานภูเก็ตดำเนินการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะนี้งานมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจและเชื่อว่าการติดตั้งจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนมีนาคมนี้ และเชื่อว่าจะสามารถนำมาใช้ตรวจค้นกระเป๋าสัมภาระได้ ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป ในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมาระหว่างการติดตั้งระบบInline screening ท่าอากาศยานภูเก็ตได้นำระบบการตรวจค้นสัมภาระหน้าอาคารผู้โดยสาร (Terminal screening ) ซึ่งที่ผ่านมายอมรับอาจทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางไม่ได้รับความสะดวกบ้าง แต่ก็เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัย ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เดินทางและนักท่องเที่ยวที่มาใช้ท่าอากาศยานภูเก็ต
การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เพื่อรองรับผู้โดยสาร 12.5 ล้านคนต่อปี โดยงานปรับปรุงทางด้านทิศใต้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากนั้นงานปรับปรุงทางด้านทิศเหนือก็จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2560 อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ท่าอากาศยานภูเก็ตมีผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 14,000,000 คนต่อปี ส่วนการขยายตราเกษียณภูเก็ตในเฟสที่สองและสามนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารก็จะมีการดำเนินการในระยะต่อไป
ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. ได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ตามที่ ทอท.เสนอ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2560-2568 มีรายละเอียด คือ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 รวมวงเงินลงทุนจำนวน 14,700 ล้านบาท
โดยระยะที่ 2 ปี 2560 – 2565 ต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่ 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์จำนวนประมาณ 1,500 คัน ด้านหน้าอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ขยายลานจอดอากาศยาน ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และก่อสร้างทางเชื่อมยกระดับจากสถานีรถไฟฟ้ารางเดี่ยวเข้ามายังท่าอากาศยานภูเก็ต มีวงเงินลงทุนประมาณ 2,700 ล้านบาท
สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 3 ปี 2566 – 2568 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 18 ล้านคนต่อปี เป็น 25 ล้านคนต่อปี มีวงเงินลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยระยะที่ 3 จะดำเนินการคู่ขนานไปกับระยะที่ 2 คือ เริ่มกระบวนการออกแบบและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2561 เพียงแต่งานก่อสร้างจะเริ่มในปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้แล้วเสร็จในปี 2568
สำหรับงานในโครงการประกอบด้วย การก่อสร้างทางขับขนานด้านทิศเหนือ ก่อสร้างสถานีดับเพลิงด้านทิศเหนือ ก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ขยายพื้นที่ห้องโถงผู้โดยสารขาออกเทียบเครื่องบินทางทิศเหนืออาคารผู้โดยสารภายในประเทศ
ปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ต อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการพัฒนาระยะที่ 1 ด้วยมูลค่าการลงทุน 5,790 ล้านบาท เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 6.5 ล้านคนต่อปี เป็น 12.5 ล้านคนต่อปี โดย ทอท.ได้เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2559 และขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิมให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560
ทั้งนี้ แผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ท่าอากาศยานภูเก็ตเป็นประตูการขนส่งของประเทศ เป็นเครื่องมือหลักในการเชื่อมโยงชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations, ASEAN) ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศให้มีคุณภาพได้มาตรฐานในระดับสากลและสามารถรองรับความต้องการของประชาชนผู้เดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ – สำนักข่าวไทย