กรุงเทพฯ 16 ก.พ.- ศาลยุติธรรม เดินหน้าสู่ยุคใหม่ การฝากขัง-ปล่อยตัวชั่วคราว ตั้งเป้า ลดความเหลื่อมล้ำ เริมทดลองเฟสแรกแล้ว
สำนักงานศาลยุติธรรมโดยสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “สู่ยุคใหม่ของการฝากขังและปล่อยตัวชั่วคราว :เปลี่ยนแนวคิดพลิกระบบด้วยวิสัยทัศน์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาระบบประเมินการปล่อยชั่วคราวและฝากขังในชั้นศาลให้มีความเป็นธรรมและมีประสิทธิมากขึ้น เนื่องจากระบบเดิม ใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันทำให้ผู้ต้องหายากไร้จำนวนมากไม่สามารถขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีฐานะกับคนยากจน
โดยนายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ได้นำเสนอ ตัวอย่างความไร้สาระของการใช้เงิน เป็นหลักประกันตัวในสหรัฐ ซึ่งกำลังสร้างปัญหาใหญ่ในระบบยุติธรรมของศาลสหรัฐ คนที่ไม่ควรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว กลับได้ปล่อยตัวเพราะมีเงิน ขณะที่คนยากจนซึ่งทำผิดเล็กน้อยแต่ไม่มีเงินประกันตัว กลับต้องยอมรับสารภาพเพื่อให้ได้ลดหย่อนโทษหรือ ติดคุก ทั้งที่ไม่ได้ทำผิดซึ่งบางส่วนคล้ายกับปัญหาในประเทศไทย พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหา ที่เป็นตัวอย่างจากศาล ในวอชิงตันดีซี ที่เริ่มใช้หลักการให้ประกันโดยไม่ใช้เงินหรือหลักทรัพย์ มาเป็นระบบประเมินความเสี่ยง โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสนับสนุน เป็นเวลากว่า 10 ปี และประสบความสำเร็จอย่างมาก มีจำเลยเพียงร้อยละ 9 ที่ถูกขังเพราะมีความเสี่ยงสูงมาก ขณะที่ ร้อยละ 91 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในจำนวนนี้ ร้อยละ 88 มาศาลตามนัด และร้อยละ 89 ไม่ทำความผิดซ้ำ
ล่าสุด โครงการดังกล่าว ได้เริ่มนำร่องในประเทศไทยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยทดลองในศาล 5 แห่งคือ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดกาฬสินธ์ ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช และศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยระยะแรกเริ่ม จากคดีความผิด ไม่เกิน 5 ปี ภายในระยะเวลา 1 ปี จากนั้นจะพัฒนา เป็นยกเว้นเฉพาะคดีร้ายแรง และเฟสสุดท้ายจะใช้หลักการนี้ครอบคลุมทุกคดีในที่สุด.-สำนักข่าวไทย