กรุงเทพฯ 24 ก.พ.-คำสั่งปลดฟ้าผ่าผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และเปลี่ยนบอร์ดบริหารยกชุดเมื่อวานนี้ ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามถึงสาเหตุและเบื้องหลัง ติดตามจากรายงานของทีมข่าวเศรษฐกิจ
คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ใช้มาตรา 44 เปลี่ยนคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยยกชุด และที่สำคัญคือปลดนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟฯให้ไปเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลายเป็นกระแสที่สังคมตั้งคำถามถึงสาเหตุที่แท้จริงคำสั่งฟ้าผ่าครั้งนี้
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าอดีตผู้ว่าการรถไฟฯ ผลักดันให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่องภายในการรถไฟฯ ทั้งเรื่องรถไฟขบวนใหม่ การเร่งรัดก่อสร้างรถไฟหลายเส้นทาง แต่ในมุมมองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นว่า การรถไฟฯ ยังมีปัญหาทุกมิติ ทั้งความล่าช้าโครงการรถไฟทางคู่หลายเส้นทาง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลทางสื่อว่า การปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟฯ ครั้งนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีได้รับข้อร้องเรียนจำนวนมากถึงปัญหาความไม่โปร่งใสในการประมูลงานและจัดซื้อจัดจ้าง หลังจากนี้จึงต้องเดินหน้าสอบสวน ข้อร้องเรียนต่างๆ แต่ขณะนี้ถือว่าทุกคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถ้าพบการทุจริตจะดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด
ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การรถไฟฯ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่มีงบลงทุนมากที่สุด ปีที่แล้วมีกว่า 65,000 ล้านบาท และภายใต้แผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง การรถไฟฯ จะรับผิดชอบโครงการลงทุนเม็ดเงินมหาศาลทั้งรถไฟทางคู่ 15 เส้นทาง วงเงินกว่า 525,000 ล้านบาท รถไฟชานเมือง 3 เส้นทาง 70,000 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง วงเงินกว่า 700,000 ล้านบาท
ขณะที่กระแสข่าวส่วนหนึ่งระบุว่า สาเหตุที่หลายโครงการลงทุนภาครัฐต่างๆ ผูกขาดอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัท ทำให้ผู้รับเหมาขนาดกลางและเล็กรายอื่น ไม่สามารถแทรกเข้าไปได้ จึงเป็นที่มาของการร้องเรียนและคำสั่งสายฟ้าแลบครั้งนี้ จึงต้องจับตาว่าหลังจากนี้ภายในปี 2560 โครงการก่อสร้างต่างๆ ของการรถไฟฯ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องของบริษัทรับเหมางานก่อสร้างหรือไม่.-สำนักข่าวไทย