ป.ป.ช. 9 มี.ค.-ป.ป.ช.มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อจริงกรณีสินบนโรลส์รอยซ์ พบรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยคมนาคม ปี 2547-2548 ส่อทุจริตเอื้อประโยชน์
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน เป็นองค์คณะการไต่สวนข้อเท็จจริงในการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินบนบริษัทโรลส์รอยซ์ กรณีขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินให้กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และขายเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมพลังงงานให้กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) และแต่งตั้งที่ปรึกษาองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง ประกอบด้วย อธิบดีอัยการต่างประเทศ ,สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง) , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายต่างประเทศ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอกสำนักงาน ป.ป.ช. เนื่องจากผลการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบว่ามีเหตุอันควรสงสัยยว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทการบินไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2547-2548 เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER จำนวน 1 ลำ พร้อมเครื่องยนต์สำหรับติดตั้งเครื่องบินลำดังกล่าว และจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600 รวมจำนวน 7 เครื่องยนต์ จากบริษัทโรลส์รอยซ์ ในช่วงคำสั่งซื้อครั้งที่ 3 โดยมีพฤติกรรมร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต และปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต เพื่อให้บริษัทโรลส์รอยซ์ได้รับผลประโยชน์ในการทำสัญญาขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินให้แก่บริษัทการบินไทย ซึ่งเห็นว่าข้อกล่าวหามีข้อมูลข้อเท็จจริงเพียงพอต่อไต่สวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542
นายสรรเสริญ กล่าวด้วยว่า ส่วนในระยะคำสั่งซื้อครั้งที่ 1 พ.ศ. 2534-2535 และระยะคำสั่งซื้อครั้งที่ 2 พ.ศ.2535 – 2540 ยังไม่มีรายละเอียดเพียงพอเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง จึงต้องแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป พร้อมมีมติให้แยกข้อกล่าวหา บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) ออกไปแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมหลักฐานพิ่มเติม
นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อกล่าวหาการรับสินบนนั้น ขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานเพียงพอ แต่พบว่ามีเอกชนเข้ามาเป็นคนกลางในการรับจ่ายสินบนกับบุคคลทั้ง 3 กลุ่ม จึงเตรียมให้อธิบดีอัยการประสานไปยัง ป.ป.ช.อังกฤษ เพื่อขอข้อมูลผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบินและเครื่องยนต์ในระยะที่ 3 พ.ศ.2547-2548 ประกอบด้วย ประกอบด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ,บอร์ด บริษัท การบินไทย โดยมีนายกนก อภิรดี เป็นผู้อำนวยการบอร์ดการบินไทย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนหารลงทุนระยะยาวของบริษัทการบินไทย ขณะที่การจัดซื้อเครื่องบินของบริษัทการบินไทยในระยะที่ 1 ปี 2534-2535 และระยะที่ 2 ปี 2538-2539 นั้น ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ เกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยว จึงมีมติให้แสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป.-สำนักข่าวไทย