กรุงเทพฯ 28 ก.พ. – นักวิชาการชี้ทำอีไอเอ/อีเอชไอเอใหม่ ต้องตั้งโจทย์สิ่งแวดล้อม-ความต้องการไฟฟ้า ชวนคิดถ่านหินไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ติงรัฐหากใช้เชื้อเพลิงอื่นกระทบการลงทุน ค่าไฟพุ่ง
ในงานเสวนา “วิศวฯ จุฬาชวนคิด ก่อนคลิก Share เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน” จัดโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาฯ กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีสั่งทำอีไอเอและอีเอชไอเอใหม่สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น ต้องมาพิจารณาใหม่ตั้งแต่แรกว่าจะดำเนินการอย่างไร เริ่มโจทย์ตั้งแต่ความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมและอื่น ๆ ซึ่งในส่วนที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ คือ คชก.มีคำถามจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่ามีข้อมูลหรือรายละเอียดหลายส่วนยังไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ตั้ง การพิจารณาทางเลือกของโครงการด้านเชื้อเพลิงและเทคโนโลยี สาธารณชนก็ห่วงใยด้านผลกระทบต่อสังคม
นางศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดทำรายงานฯ รอบใหม่ควรเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นหลัก โดยเริ่มตั้งแต่การให้ข้อมูลรอบด้าน เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐ รวมถึงควรออกกฎหมายให้ครอบคลุมการตรวจสอบด้วยตัวชี้วัดรูปแบบใหม่ที่จะมีความเข้มงวดมากขึ้น คำนึงถึงทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน พร้อมนำเครื่องมืออื่น ๆ และข้อมูลปฐมภูมิ เช่น การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ เข้ามาปรับใช้กับการวางนโยบายด้านพลังงาน จากปัจจุบันที่ใช้เพียงรายงาน EIA เท่านั้น
นายสมศักดิ์ สายสินธุ์ชัย อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถ่านหินไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดหากมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่ดี ประเทศที่ให้ความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมและท่องเที่ยวต่างมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น มาเลเซีย ต่างมีโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมาก เพราะมีต้นทุนต่ำและมีสำรองถึง 200 ปี ซึ่งก็อยากให้คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ การลงทุน ความสามารถการแข่งขันของประเทศด้วย
“หากเปลี่ยนไปเดินเครื่องโรงไฟฟ้าภาคใต้ด้วยพลังงานทดแทน จะทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เห็นได้จากปี 2559 ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟสูงขึ้นถึง 19 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเม็ดเงินรวม 33,000 ล้านบาทต่อปี หลังไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ภาครัฐให้การสนับสนุนทยอยจ่ายเข้าระบบต่อเนื่อง” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายกุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ จะไม่ระบุว่าสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนถ่านหิน แต่หากประชาชนไม่ยอมรับเชื้อเพลิงดังกล่าว ก็จะเหลือเพียง 3ทางเลือก คือ นิวเคลียร์ ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทดแทน ซึ่งมีข้อเสนอเรื่องปาล์มน้ำมันต้องคิดให้ดีว่ามีข้อจำกัดเรื่องปริมาณผลผลิตที่ไม่สามารถป้อนโรงไฟฟ้าได้สม่ำเสมอ ไม่สามารถเดินเครื่องเป็นโรงไฟฟ้าฐานได้ กำลังผลิตปัจจุบันอยู่ที่ 8 เมกะวัตต์ หากต้องการไฟฟ้า 800เมกะวัตต์ต้องสร้างถึง 100 โรง
ส่วนนิวเคลียร์ต้องถามว่ายอมรับได้หรือไม่ และหากสร้างโรงไฟฟ้า ก๊าซก็มีความเสี่ยงเรื่องไม่กระจายเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันไทยใช้ผลิตไฟฟ้ากว่าร้อยละ 60 ดังนั้น ถ่านหินจึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ด้านต่างได้ส่วนข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีทางวิศวกรรมที่พัฒนาก้าวหน้าก็มีวิธีจัดการผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย