ทำเนียบรัฐบาล 20 กพ.-นายกฯกำชับกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ให้กำหนดแนวทางบริหารการจัดซื้อจัดจ้าง ระหว่างรอพ.ร.บ.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เน้นโปร่งใส ภาครัฐได้ประโยชน์ ประชาชนมีส่วนร่วม
นายอำพน กิตติอำพน ผู้อำนวยการสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี(พีเอ็มดียู) พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและน.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ร่วมแถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 2/2560ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานประชุม
นายอำพน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางวางแนวทางการปฏิบัติเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างที่รอพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ โดยเน้นเรื่องการกำหนดข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง(ทีโออาร์) ให้มีความโปร่งใส ภาครัฐได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ รวมถึงกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องทำให้ได้ราคากลางที่ถูกต้อง แก้ปัญหาการสมยอมราคา การพิจารณาการจัดซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตโดยไม่ผ่านคนกลาง
น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ต้องดูเรื่องของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาแข่งขันในโครงการของภาครัฐ ซึ่งจะให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้ามาดำเนินการได้ แต่ต้องกลั่นกรองกติกาต่าง ๆ อย่างรอบคอบและเหมาะสม การเพิ่มจำนวนโครงการที่ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงคุณธรรม ที่ปัจจุบันดำเนินงานใน 35 โครงการแล้ว เพื่อให้เปิดเผยข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ รลดการใช้งบประมาณของภาครัฐ และต้องเพิ่มกระบวนการการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน
“หากพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมีผลบังคับใช้ แต่กฎหมายลูกยังไม่แล้วเสร็จ อาจพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 44 บังคับใช้ไปก่อน ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะมีการศึกษาและนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ จากที่รัฐบาลดำเนินมาตรการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ปี 2558 ทั้งในส่วนของ e-bidding หรือวิธีประกวดราคาอิเล็คทรอนิกส์ การดำเนินข้อตกลงคุณธรรมและการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้าง สามารถแก้ปัญหาเรื่องการสมยอมราคาและการล็อคสเปค โดย สามารถประหยัดงบประมาณได้กว่า 69,670 ล้านบาท” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว.-สำนักข่าวไทย