ทำเนียบรัฐบาล 21 ก.พ. – ครม.รับทราบแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากผลเดิมไม่ต้องเริ่มใหม่ เปิดชาวบ้านมีส่วนร่วม ยกตัวอย่างมาเลเซียมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 7 แห่งริมชายฝั่ง ยังไม่มีการเรียกร้อง
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รายงานเกี่ยวกับแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยนำมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ 400 ประเด็น และกลุ่มผู้ชุมนุมเสนอ เพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้ง นายกรัฐมนตรีต้องการให้ทุกภาคส่วนร่วมกันกลับไปแก้ปัญหา จึงมีเวลาทบทวนและข้อมูลจากบุคคลรอบข้าง เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเคยมีในพื้นที่จังหวัดกระบี่ปี 2507 ย้อนไปดูมาเลเซียมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 7 แห่งตลอดแหลมมลายู ในแถบรัฐสิมิลัน ซาราวัค ยะโฮ หากไทยมีปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอต้องรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินของมาเลเซียหรือไม่
ที่ประชุม ครม.วันนี้ไม่ได้มีมติเกี่ยวกับแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ให้ยึดมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นำผลศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามที่ศึกษามาแล้ว เพียงแต่นำข้อเสนอของกลุ่มชาวบ้านมาประกอบเพิ่ม 2-3 ขั้นตอน ยอมรับว่าแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าอาจล่าช้าไปอีก 2 ปี หรือเปิดใช้ภายในปี 2566-2567 แต่หากก่อสร้างไม่ได้คงต้องใช้แนวทางอื่น ดังนั้น การศึกษา EHIA ไม่ต้องเริ่มศึกษาใหม่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กพช.มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการตามขั้นตอนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
ดังนั้น จึงมอบให้กลับไปศึกษาร่วมกัน ตามที่กลุ่มผู้ชุมชนเสนอขอให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมศึกษาEHIA หากผลสรุปร่วมกันให้สร้างได้เดินหน้าต่อไปได้ ก็เดินหน้าต่อไป แต่หากสร้างไม่ได้จะใช้พลังงานอื่น หรือสถานที่อื่น ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาร่วมกัน หากก่อสร้างไม่ได้ต้องยอมรับเพื่อเผชิญร่วมกัน หลังจากแผนการผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 2015 ( PDP 2015) กำหนดให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เริ่มส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบปี 2562 และขอให้นำผลการศึกษาของคณะกรรมการไตรภาคี ทั้งฝ่ายรัฐบาล นักวิชาการ กลุ่มผู้ชุมชน ร่วมกันศึกษาระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมาพิจารณาร่วมด้วย.-สำนักข่าวไทย