รัฐสภา 22 ก.พ. – มีชัยเสนอให้มีบทลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ที่ไม่เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ ในร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ แนะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มาเผยแพร่ข้อมูลข่าวให้ประชาชนอย่างทั่วถึง เดินหน้าเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ในเวทีเสวนาเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. :กลไกสำคัญในการตอบโจทย์การปฏิรูปภาครัฐ มุ่งสู่ Thailand 4.0” ที่คณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ร่วมกับ คณะอนุกรรมาการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐ จัดขึ้น
นายมีชัย ระบุว่า สาเหตุที่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ กำหนดสิทธิหน้าที่ประชาชนเพิ่มมากขึ้นในส่วนการรับรู้ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลบ้านเมือง รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูล ขณะเดียวกัน รัฐก็ต้องเปิดเผยข้อมูล โดยขอให้ข้าราชการเปลี่ยนความคิดว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้การทำงานยากขึ้น อีกทั้ง การออกกฎหมายที่ผ่านมา ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และไม่เคยถามว่า มีผลกระทบต่อกฎหมายนั้นอย่างไร
นายมีชัย ยกตัวอย่างการผ่านกฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยปี 2558 ที่จนถึงขณะนี้ ประชาชนยังไม่สามารถมีโอกาสเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชนก่อน ดังนั้น ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 จึงกำหนดให้ก่อนตรากฎหมาย จะต้องรับฟังความเห็นประชาชน รวมถึง วิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายต่อประชาชนด้วย
“ไม่อยากให้ สนช.กังวลว่า การออกกฎหมายมีขั้นตอนยากขึ้น ผมเห็นว่า การออกกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากยิ่งควรระมัดระวัง และมีความจำเป็นต้องให้ ประชาชน รับรู้ข้อมูลมากขึ้น” นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย ยังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ข่าวสารสาธารณะฉบับนี้ ที่กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลของราชการ ว่า ควรคิดนอกกรอบ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงส่วนงานราชการทั้งหมดอย่างทั่วถึง ผ่านช่องทางเดียว ไม่ใช่ให้แต่ละหน่วยงานเผยแพร่ข้อมูลเอง และทำอย่างไรจะกระตุ้นให้ประชาชนเข้าสู่ข้อมูลข่าวสารได้ และว่า ระบบการขอข้อมูลของราชการ ยังเป็นไทยแลนด์ 1.0 ที่จะต้องยื่นคำขอ และจะได้รับข้อมูล ก็ต่อเมื่อได้รับคำอนุญาตเท่านั้น
“นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดไม่ต้องรับโทษ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่จะเอาผิดแต่ประชาชนไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ดังนั้น ควรกำหนดโทษต่อเจ้าหน้าที่ หากไม่เปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชน เพื่อเป็นนิมิตใหม่ ในการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง” นายมีชัย กล่าว .- สำนักข่าวไทย