สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 30 ธ.ค.-พล.อ.วิทวัสเชื่อแม้ผู้ตรวจฯไร้อำนาจสอบจริยธรรม ไม่ทำให้เรื่องร้องเรียนลดลง แต่เปิดกว้างให้เอาผิดทางอาญาได้ ไม่ใช่เสือกระดาษ
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฎิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า พอใจการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในรอบปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558ถึงต้นเดือนตุลาคม 2559 มีเรื่องร้องเรียน 7,000เรื่อง โดย 4,000 เรื่องเป็นการรับคำร้องใหม่ และ 2,000 – 3,000 เรื่อง เป็นเรื่องที่ค้างการพิจารณาจากปีก่อน ซึ่งการทำงานของผู้ตรวจการฯ หลายเรื่องที่ผ่านมาสามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้พอสมควร เช่น กรณีพิพาทเรื่องกรมธนารักษ์ประกาศเวนคืนที่ดินรอบคูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งกระทบสิทธิของประชาชน กรณีการเวนคืนที่ดินก่อสร้างทางพิเศษบางประอิน-นครราชสีมา และการแก้ไขปัญหาจำหน่ายสินค้าและอาหารที่มีราคาแพงในสนามบินดอนเมืองและสุวรณภูมิ ซึ่งกรณีดังกล่าวคาดว่าจะได้ข้อยุติ และจะลงพื้นที่อีกครั้งในเดือนมกราคม 2560
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า ผู้ตรวจการฯ ได้เตรียมเรื่องการปรับองค์กรเพื่อรองรับกับภารกิจตามรัฐธรรมนูญใหม่ ที่กำหนดให้ผู้ตรวจการฯ มีภารกิจใน 3 ด้าน คือ 1.ตรวจสอบว่าหน่วยงานรัฐใดปฎิบัติตนไม่เหมาะสมกับประชาชน ไม่ก่อให้เกิดภาระกับประชาชน 2.มีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากหน่วยงานรัฐ ที่ไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย หรือปฎิบัติเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และ 3. ให้จัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) หากหน่วยงานรัฐยังปฎิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามหมวด 5 ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ที่มีทั้งหมด 13 เรื่อง อาทิ การศึกษา สิ่งแวดล้อม การรักษาพยาบาล การป้องกันและปราบปรามการทุจริต การมีกองกำลังทหารเพื่อรักษาอธิปไตย การสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งทางผู้ตรวจการฯ ได้ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าผู้ด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินเสร็จสิ้นแล้ว
“ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนของผู้ตรวจการแผ่นดินกว่าร้อยละ 95 ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการในการแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน มีเพียงร้อยละ 5 ที่หน่วยงานราชการดื้อดึงขัดขืน หลีกเลี่ยง ซึ่งเห็นว่าถ้าไม่แก้ไขจะนำมาสู่จุดเสื่อม ลดทอนความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ ข้อเสนอของผู้ตรวจการฯ มีไปยังหน่วยงานรัฐเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ควรจะมีมาตรการบังคับเพื่อให้หน่วยงานนั้นปฎิบัติตาม จึงได้เสนอไว้ในร่างกฎหมายลูก ว่าถ้าเรามีเรื่องเสนอไปให้หน่วยงานรัฐแล้ว หากไม่ปฎิบัติตามสามารถเสนอต่อครม.ต่างจากของเดิมที่ส่งรายงานต่อสภาเท่านั้น” พล.อ.วิทวัส กล่าว
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า หากส่งไปแล้วหน่วยงานมีความเห็นต่างจากผู้ตรวจการฯ สามารถตั้งคณะกรรมสองฝ่ายเพื่อหาข้อยุติร่วมกันก่อน หรือถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เราเสนอไปยังครม.แล้วครม.ดองเรื่อง อาจถือได้ว่าครม.กระทำการขัดมาตรา 157 ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ผู้ตรวจการฯสามารถส่งเรื่องไปยังป.ป.ช. เพื่อไปสู่ขั้นตอนการถอดถอนได้ ซึ่งถ้ากรธ.เห็นด้วยความข้อเสนอดังกล่าว จะทำให้ข้อครหาที่ว่ผู้ตรวจการแผ่นดินคือเสือกระดาษหมดไป ที่เราเสนออย่างนี้เพราะอยากให้ประชาชนมั่นใจ ว่ามีหลักประกันว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า เสนอให้ผู้ตรวจการฯ มีอำนาจสั่งคุ้มครองชั่วคราว เช่น หากมีผู้มาร้องและผู้ตรวจการฯลงพื้นที่แล้วไม่ระงับยับยั้ง แล้วจะเกิดความเสียหาย สามารถให้ระงับโครงการไว้ก่อนได้เป็นเวลา 30 วัน แต่อำนาจดังกล่าวจะไม่ใช้ในทุกกรณี จะใช้เมื่อจำเป็นและมีความเสียหายเกิดขึ้น
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า หากรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ ผู้ตรวจการฯ จะไม่มีอำนาจตรวจสอบเรื่องจริยธรรม แต่เชื่อว่าเรื่องร้องเรียนจะไม่ลดน้อยลง เพราะเมื่อรัฐมีโครงการที่จะช่วยประชาชนมากขึ้น เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่รัฐบาลต้องการความมั่นคงด้านพลังงาน แต่คนในจังหวัดกระบี่อยู่ได้ด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงไม่ต้องการมลพิษ จึงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความสมดุล คิดว่ากลไกลของผู้ตรวจการฯ ต้องเข้าไปสร้างสมดุล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบสิทธิของประชาชน
“การทำงานในอนาคตของผู้ตรวจการฯ การมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงาน และ ครม.จะไม่ใช่ข้อเสนอในเชิงวิชาการ แต่ต้องเป็นข้อเสนอที่ทำให้หน่วยงานของรัฐไม่สร้างปัญหาให้กับประชาชน ที่ผ่านมาในกฎหมายเดิมผู้ตรวจไม่เคยใช้อำนาจทางอาญากับหน่วยของรัฐ แต่ต่อไปคิดว่าอาจมีความจำเป็น จริงอยู่ที่โทษอาญาเป็นโทษเพียงเล็กน้อย แต่คิดว่าถ้าหากองค์กรไหนถูกลงโทษ จะกระทบต่อเกียรติภูมิ ซึ่งการเป็นหน่วยงานราชการ การกระทบต่อเกียรติภูมิเป็นเรื่องที่น่าละอายขององค์กร” พล.อ.วิทวัส กล่าว.-สำนักข่าวไทย