กรุงเทพฯ 31 ธ.ค. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดหนี้ครัวเรือนปี 60 ลดลงอยู่ในกรอบร้อยละ 80.5-81.5 ต่อจีดีพี อานิสงส์การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนภาครัฐ และราคาน้ำมันตลาดโลกขยับขึ้น
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2559 ปรับลดลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน มาที่ระดับร้อยละ 81.0 ต่อจีดีพี เทียบกับร้อยละ 81.3 ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2559 ส่วนสิ้นปี 2559 คาดพลิกกลับมาขยับขึ้นสู่ระดับร้อยละ 81.5 ต่อจีดีพี ลดลงจากสิ้นปี 2558 ซึ่งย้ำภาพการชะลอความร้อนแรงลงจากอดีตและช่วยลดทอนความกังวลต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมลงไปได้ในระดับหนึ่ง
ส่วนปี 2560 คาดว่าจะทรงตัวหรือขยับลดลงมาที่กรอบคาดการณ์ร้อยละ 80.5-81.5 (บนสมมติฐานจีดีพีขยายตัวร้อยละ 3.3) แม้อาจเห็นอัตราการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นมาที่กรอบร้อยละ 4.0-5.0 จากสิ้นปี 2559 ที่น่าจะเติบโตร้อยละ 3.6 แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปีหน้าอาจลดลง โดยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดหวังว่าจะได้รับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลก
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่จะมีบทบาทต่อการเติบโตของหนี้ครัวเรือน ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะมีแรงหนุนจากการเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลางการจัดกิจกรรมการตลาดอย่างเข้มข้น ผนวกกับอัตราดอกเบี้ยที่คงทรงตัวในปีหน้าแต่อาจเริ่มขยับขึ้นในปี 2561 จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยและเบิกใช้สินเชื่อสำหรับผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริงในปี 2560 เพื่อล็อกต้นทุนดอกเบี้ยให้ยังอยู่ในระดับต่ำและเหมาะสมกับความสามารถในการชำระคืน ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตน่าจะได้รับแรงหนุนจากค่าครองชีพที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนพลังงานและค่าจ้างแรงงานที่ขยับขึ้น ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หดถึงทรงตัวมาหลายปีติดต่อกันจะพลิกกลับมาขยายตัวในแดนบวกอย่างชัดเจนขึ้นในปี 2560 สอดคล้องกับการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศ และการปลดภาระหนี้ของผู้เข้าร่วมโครงการรถยนต์คันแรกประมาณร้อยละ 30 ของผู้ที่เข้าโครงการดังกล่าว ทำให้การไถลลงของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ลดน้อยลง ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่จะเป็นแกนหลักในการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนปี 2560 นั้น คงยังหนีไม่พ้นธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสหกรณ์ออมทรัพย์ ส่วนนอนแบงก์จะกลับมามีบทบาทเพิ่มขึ้นหลังหดตัวมานาน 2 ปีติดต่อกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าปี 2560 คงเป็นจังหวะอันดีที่ครัวเรือนไทยจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการเตรียมแนวทางรับมือหรือสะสมเงินออม เพื่อเป็นกันชนทางการเงินไว้รองรับการปรับเพิ่มของดอกเบี้ยเงินกู้ที่น่าจะมาถึงในอีกหนึ่งปีถัดไป เมื่อถึงเวลานั้นอาจกระทบต่อภาระหนี้จ่ายของครัวเรือนที่มีหนี้ ซึ่งอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ตลอดจนเงินกู้สหกรณ์ที่มีสัดส่วนรวมประมาณร้อยละ 35 ต่อจีดีพีที่มีโอกาสได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก ขณะที่สถาบันการเงินคงต้องใช้นโยบายเครดิตที่รัดกุมต่อเนื่อง แม้ว่าความกังวลต่อปัญหาความร้อนแรงของหนี้ครัวเรือนจะบรรเทาลงแล้วก็ตาม.-สำนักข่าวไทย