สธ.4 ม.ค.-สธ.ส่งยา-เวชภัณฑ์กว่า 1 แสนชุด ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ 9 จังหวัด ยาน้ำกัดเท้า 65,000 ชุด เตือนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมให้ระวังการพลัดตกน้ำ/จมน้ำ หลังพบผู้เสียชีวิตสะสม 37 คน แนะหาอุปกรณ์ช่วยเหลือเบื้องต้นใกล้ตัว สถานบริการที่ได้รับผลกระทบ 65 แห่งสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า จากสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ภาคใต้ 12 จังหวัด ได้รับรายงานจากศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ปัจจุบันยังพื้นที่น้ำท่วม 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี พัทลุง นราธิวาส ยะลา และสงขลา สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ระนอง ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์และตรัง มีสถานบริการได้รับผลกระทบ 65 แห่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเริ่มเปิดให้บริการตามปกติแล้ว และมีบุคลากรสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 1,296 ครัวเรือน อยู่ระหว่างประมาณการความเสียหาย
ทั้งนี้ สธ. ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลในพื้นที่ประสบภัย ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชน ให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม การดูแลตนเอง และบุคคลในครอบครัว การจัดการสุขาภิบาลบริเวณบ้าน สุขภาวะส่วนบุคคล การออกเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง และผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ 1,114 คน โดยส่วนกลาง สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ เป็นยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 111,000 ชุด ยาน้ำกัดเท้า 65,000 ชุด และอยู่ระหว่างจัดส่งเพิ่มเติมอีก 52,000 ชุด เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เกิดอุทกภัย
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559-3 มกราคม 2560 ในพื้นที่สถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ พบว่า มีผู้เสียชีวิต 37 ราย แยกเป็นพลัดตกน้ำ 6 คน จมน้ำ 31 คน ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 12 คน สงขลา 8 คน ปัตตานี 6 คน สุราษฏร์ธานี 5 คน พัทลุง 4 คน ประจวบคีรีขันธ์และตรัง จังหวัดละ 1 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 616 คน จากสาเหตุลื่นล้ม ของมีคมในน้ำบาด สัตว์ที่หนีน้ำกัด เป็นต้น จากการประเมินปัญหาสุขภาพจิตของทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต(MCATT) ผู้ประสบภัยจำนวน 6,884 คน พบมีความเครียดจากน้ำท่วม 97 คน อาการซึมเศร้า 71 คน เสี่ยงฆ่าตัวตาย 32 คน และที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ 32 คน ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และสงขลา ขณะนี้ได้ส่งผู้เกี่ยวข้องเข้าให้การดูแลแล้ว
สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เกิดภัย ขอให้ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด จัดเตรียมเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะเครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค เป็นต้น และให้เตรียมวัสดุที่สามารถลอยน้ำได้ เช่น แกลลอนพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ลูกมะพร้าว ยางในรถยนต์ สำหรับใช้ยึดเกาะพยุงตัวขณะลุยน้ำท่วม .-สำนักข่าวไทย