กรุงเทพฯ 23 ก.ย. ดีป้าเผยผลสำรวจอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2561-2562 ภาพรวมทรงตัวคาดปี 2563 โควิด-19ช่วยหนุนตลาดบริการดิจิทัลโตก้าวกระโดด
นางสาวกษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า แถลงผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2561-2562 ว่า ดีป้าได้ประมาณการมูลค่าตลาดดิจิทัลไทยปี 2563-2565ครอบคลุม 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ปี 2561 มีมูลค่ารวม 637,676 ล้านบาท ส่วนปี 2562 มีมูลค่ารวม 647,952 ล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.61 โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยปี 2561-2562 มาจากปริมาณความต้องการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมดิจิทัล ขณะเดียวกันหน่วยงานต่าง ๆ เล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล อีกทั้งผู้คนเริ่มคุ้นเคยและใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น ในทางกลับกันปัจจัยที่เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของมูลค่าตลาดมาจากขาดผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ ที่มากระตุ้นตลาด ทำให้ปริมาณความต้องการอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ทชะลอตัวลง และหันไปใช้ในรูปแบบบริการมากขึ้น (เช่น บริการ cloud) การขาดแคลนกำลังคนดิจิทัล ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ขณะที่การใช้บริการต่าง ๆ ที่ซื้อตรงจากต่างประเทศมีมากขึ้น ทำให้ไม่มีข้อมูลแสดงรายได้ในประเทศ
สำหรับผลการสำรวจอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2561-2562 จำแนกตามประเภทชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ปี 2561 มีมูลค่ารวม 118,917 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8.10 เมื่อเทียบกับปี 2560ขณะที่ปี 2562 มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 134,817ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13.37 ด้านอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ ปี 2561 มีมูลค่ารวม 325,261 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.29 จากปี 2560 ขณะที่ปี 2562 มีมูลค่าตลาดรวม 299,343 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าเฉลี่ยร้อยละ 7.97 โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์นั้นมีมูลค่าตลาดลดลงต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านจำนวนเครื่องและมูลค่า ขณะที่ส่วนที่เติบโตคืออุปกรณ์อัจฉริยะหรือสมาร์ทดีไวซ์ ซึ่งแม้จะมีอัตราเติบโตดี แต่ก็ยังติดลบในปี 62 เพราะการนำเข้าที่ลดลง รวมถึงการย้ายฐานการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์ในประเทศไทย อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล ปี 2561 มีมูลค่ารวม 153,497 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 24.17 จากปี 2560 โดยในปี 2562 อุตสาหกรรมดังกล่าวมีมูลค่ารวมกว่า 169,536 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 10.45อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ปี 2561 มีมูลค่า 27,872 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11.31ขณะที่ปี 2562 มีมูลค่ารวมกว่า 31,080 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตจากปี 2561 เฉลี่ยร้อยละ 11.51 และอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า ปี 2561มีมูลค่ารวม 12,129 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 2.45และปี 2562 มีมูลค่า 13,176 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8.63 เมื่อเทียบกับปี2561
นางสาวกษิติธร กล่าวอีกว่า ส่วนประมาณการมูลค่าตลาดดิจิทัลไทย ปี 2563-2565 คาดว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ปี2563 จะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 133,199 ล้านบาท หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.2 โดยมีสาเหตุมาจากวิกฤตโควิด-19 แม้จะมีการนำซอฟต์แวร์บางด้านมาประยุกต์ใช้ เนื่องจากการทำงานแบบรีโมท อาทิ การประชุมผ่านระบบออนไลน์ CRM และ Document แต่ซอฟต์แวร์ดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ จึงไม่มีข้อมูลแสดงรายได้ในประเทศ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ คาดว่าจะมีมูลค่า 268,989 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 10.1 โดยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน ส่งผลให้มีการนำเข้าฮาร์ดแวร์ลดลงอย่างมาก แต่คาดว่าทั้งสองอุตสาหกรรมจะกลับมาขยายตัวตามปกติ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่ม IoT ที่จะขยายตัวเด่นกว่ากลุ่มอื่นในปี 2564-2565ปัจจัยบวกที่จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และสมาร์ทดีไวซ์ไทย คือการเข้ามาของ AI ทำให้เกิดระบบอัตโนมัติมากขึ้น ยังมีการลงทุน 4G ต่อเนื่องก่อนการประมูล 5G ซึ่งรองรับความต้องการใช้งานของผู้บริโภค และภาครัฐที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ขณะที่ปัจจัยลบคือการขาดผลิตภัณฑ์ที่กระตุ้นความต้องการซื้อ การผันผวนของค่าเงิน ปัญหาเศรษฐกิจ และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯอุตสาหกรรมบริการดิจิทัล ปี 2563 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20.5 ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำการสำรวจ โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 204,240 ล้านบาท คาดว่าได้รับแรงหนุนจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้สังคมปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วขึ้น และมีการใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น โดยประเมินว่ามูลค่าตลาดดังกล่าวจะขยายตัวสูงกว่า 258,470 ล้านบาทในปี 2565 ส่วนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10.1 ในปี 2563 คิดเป็นมูลค่ารวม 34,229 ล้านบาท เนื่องจากตลาดเกมและบิกดาต้ามีอัตราการขยายตัวสอดคล้องกับตลาดโลก ขณะที่ตลาดแอนิเมชันเติบโตลดลง จากโควิด-19 ทำให้ออเดอร์จ้างผลิตลดลง และมูลค่าคาแรคเตอร์ลดลง ผลจากสติกเกอร์ไลน์ที่เริ่มถึงจุดอิ่มตัว อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า ในปี 2563คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงรองลงมาจากอุตสาหกรรมบริการดิจิทัล โดยเติบโต 13.2%และมูลค่าตลาดจะขยับสู่ 16,871 ล้านบาทในปี 2564 จากแรงหนุนที่ทุกภาคส่วนเล็งเห็นประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบกับการมีทางเลือกให้ใช้บริการแบบเช่าใช้ ซึ่งง่ายต่อการตัดสินใจลงทุน มูลค่ารวมอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นเป็น 18,558 ล้านบาทในปี 2565 เนื่องจากสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการระบาดของโรคโควิด-19 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
บุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2562 มีจำนวนรวม 381,620 คน โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะมากที่สุดที่ 196,852 คน ทั้งนี้เพราะมีมีพนักงานในอุตสาหกรรมการผลิตและขายปลีกอุปกรณ์เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้จำนวนบุคลากรได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2560 ที่มี 283,636 คน เป็น 299,728 คนในปี 2561 ซึ่งจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลได้สร้างงานในหลายอาชีพทั้งแรงงานด้านไอทีและพนักงานทั่วไป โดยเฉพาะงานทางด้านอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลที่เริ่มมีจำนวนพนักงานที่เพิ่มชึ้นอย่างมาก โดยพบว่าปี 62 จำนวนบุคลากรบริการดิจิทัลเพิ่มขึ้น 455%เป็น 71,054 ราย อันมีผลจากการเติบโตของบริการด้านธุรกรรม (e-Transaction) ที่อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นพนักงานประจำเข้าสู่ระบบมากขึ้น จากเดิมที่เป็นการ Outsource
ด้านนายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซีกล่าวว่า ปี 2563 ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้สังคมปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วขึ้น มีการใช้บริการดิจิทัลมากขึ้นจึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยเติบโตอย่างมาก สำหรับปี 2564 แม้มีแนวโน้มว่าจีดีพีของประเทศจะปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในปี 2563จะทำให้ตัวเลขการเติบโของปี2564 จะไม่สูงเท่ากับปีก่อนหน้า ขณะที่ปี 2565 แนวโน้มการเจริญเติบโตด้านบริการดิจิทัลจะอยู่ในอัตราที่ดี แต่อาจไม่สูงเท่ากับที่เคยทำได้มาก่อน เพราะเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้วการสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นผลงานที่ดีป้าจัดทำต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 3 เพื่อเป็นข้อมูลบ่งชี้สถานภาพปัจจุบันของอุตสาหกรรม และข้อมูลคาดการณ์ที่บ่งชี้แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยในแต่ละปี โดยดีป้าจะขยายขอบเขตการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลให้ครอบคลุมมิติอื่นเพื่อให้ผู้สนใจได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น-สำนักข่าวไทย.