สำนักข่าวไทย 26 พ.ย.-รองเลขาฯ ป.ป.ส.เผยข้อความที่แชร์ในโลกโซเชียล กรณีพบยาเสพติดชนิดใหม่“ไว ด้วยสตรอเบอรี่” เป็นเรื่องเก่าตั้งแต่ 2 ปี ที่แล้ว และผลการตรวจสอบ ไม่พบยาเสพติดดังกล่าว
นายนิยม เติมศรีสุข รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ชี้แจงกรณีที่มีการแชร์ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องยาเสพติดชนิดใหม่ ‘ไว ด้วยสตรอเบอรี่’ แพร่ระบาดในโรงเรียน ว่า จากการตรวจสอบของสำนักงาน ป.ป.ส.พบว่า ข้อความดังกล่าวนี้ มีการเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ ตั้งแต่ ปี 2557 ซึ่งขณะนั้นได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจขนมที่มีลักษณะดังกล่าวปรากฏว่า ตรวจไม่พบยาเสพติดผสมอยู่ ขณะที่การตรวจพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการของสถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติดของสำนักงาน ป.ป.ส. ก็ไม่เคยได้รับตัวอย่างที่มีลักษณะดังกล่าว รวมทั้งประสานไปยังสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์พิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่เคยได้รับตัวอย่างมาตรวจพิสูจน์เช่นกัน และขณะนี้ก็ยังไม่พบกรณีนี้
สำหรับข้อความที่นำมาแชร์ ซึ่ง ป.ป.ส.ตรวจสอบแล้ว ไม่เป็นความจริง คือ “ขณะนี้มียาเสพติดชนิดใหม่นี้รู้จักกันในชื่อ “ไว ด้วยสตอรเบอรี่ (strawberry quick)” เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่แพร่หลายอยู่ตามโรงเรียนขณะนี้ ที่พวกเราจำเป็นต้องรู้ (ว่ามันมีอยู่) ยานี้มีลักษณะเป็นเม็ดคริสตัลที่ดูคล้ายขนมสตอรเบอรี่ป๊อปร็อค ที่เป็นลูกอมที่เวลาละลายจะทำให้เกิดความรู้สึกว่ามันแตกป๊อปในปาก ยานี้มีกลิ่นเหมือนสตอรเบอรรี่ด้วย และมีการแจกจ่ายมันให้เด็กตามสนามโรงเรียน พวกเด็กๆ จะเรียกว่า เม็ดสตอรเบอรี่หรือไวด้วยสตอรเบอรี่เด็กๆ ที่กินอันนี้โดยคิดว่ามันคือขนม จะถูกพาเข้า รพ อย่างเร่งด่วนในสภาพที่ร่อแร่ ยานี้มาได้กับชอคโกแลต เนยถั่ว น้ำอัดลม เชอรี่ องุ่น และรสส้ม (..เข้าใจว่า นอกจากจะเป็นรสสตอรเบอรี่แล้ว อาจเป็นในรูปขนมป๊อปร็อครสอื่นๆ) ควรสอนลูกหลานของท่านว่าอย่ารับขนมจากคนแปลกหน้า และอย่ารับลูกอมที่ดูเหมือนลักษณะนี้จากเพื่อน (ซึ่งอาจได้รับมาโดยคิดว่าเป็นลูกอม) และถ้าได้มาแล้ว ก็ให้เอาที่มีอยู่ไปให้ครู/อาจารย์ใหญ่ โดยทันที กรุณาส่งอีเมล์นี้ไปให้คนอื่นๆมากเท่าที่ทำได้ (แม้ว่าเขาอาจไม่มีบุตรหลานก็ตาม)เราจะสามารถช่วยกันเพิ่มความตระหนักตื่นตัวและหวังว่าจะช่วยป้องกันโศกนาฏกรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ โปรดส่งต่อเพื่อเพิ่มความตื่นตัว เพราะมันช่วยได้จริงๆ”
ขณะที่ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ตรวจสอบกรณีดังกล่าวพบว่า ข้อความที่แชร์กันนั้น มีที่มาจากข่าวลือในสหรัฐอเมริกา ที่มีการแชร์กันตั้งแต่ปี 2550 หลังจากที่มีการจับกุมยาบ้าที่ผลิตเป็นสีชมพู ซึ่งทำให้เกิดความตื่นกลัวในหมู่ผู้ปกครองในสหรัฐอเมริกาว่าจะมีการนำยาบ้าดังกล่าวมาขายให้เด็ก ๆ
อย่างไรก็ตาม ต่อมาสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐได้ออกแถลงข่าวยืนยันว่า ไม่พบการจำหน่ายยาดังกล่าวให้กับเด็กแต่อย่างใด รวมถึงไม่พบว่ามีเด็กได้รับอันตรายมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพราะยาดังกล่าว ทั้งนี้คาดว่า ยาบ้าที่เป็นเกล็ดสีชมพูนั้น เป็นการทำเพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่มากกว่าการมีเป้าหมายที่เยาวชน
นอกจากนี้ ในสังคมออนไลน์ยังมีการแชร์ภาพวัตถุที่เป็นแท่งสีขาว และเตือนว่าเป็นยาเสพติดที่นำมาขายให้กับเยาวชนโดยหลอกว่าเป็นวิตามินนั้น ตรวจสอบแล้ววัตถุในภาพที่แชร์กัน คือ บารากู่ไฟฟ้า หรือ บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกประกาศห้ามจำหน่ายหรือให้บริการในประเทศไทยแล้วตั้งแต่ปี 2558 หลังพบว่ามีการใช้งานในหมู่เยาวชนจริง
.-สำนักข่าวไทย