กรุงเทพฯ 15 ก.ย. – กระทรวงสาธารณสุขจับมือไมโครซอฟท์และสตาร์ทอัพไทยทำแพลตฟอร์มข้อมูลเพื่อจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ เพิ่มความคล่องตัวต้านภัยโควิด-19
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การควบคุมการระบาดของโรค วินิจฉัยอาการของผู้ป่วยที่อาจติดเชื้ออย่างแม่นยำ ให้การรักษาแก่ผู้ติดเชื้ออย่างทันท่วงทีรวมถึงจัดหาทั้งเวชภัณฑ์สำหรับแพทย์และพยาบาล คือ ภารกิจหลักของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบโจทย์นี้จึงให้ความสำคัญไปที่การติดตามและใช้งานข้อมูลด้วยความเร็วระดับเรียลไทม์ เพื่อให้โรงพยาบาลและหน่วยบริการทางการแพทย์สามารถทราบอยู่เสมอว่ามีสิ่งของจำเป็นประเภทไหนอยู่ที่ใดบ้าง โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ระบบนี้สามารถตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันได้ทันท่วงที และใช้เวลาพัฒนาไม่ถึงหนึ่งเดือน โดยพัฒนาแดชบอร์ด (dashboard) กลางสำหรับติดตามข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์และทรัพยากรทางการแพทย์ทั่วประเทศไทย เสริมประสิทธิภาพให้โรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ตอบสนองต่อสถานการณ์ในแต่ละวันได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยระบบแดชบอร์ดนี้พัฒนาขึ้นโดยใช้ Power BI เครื่องมือวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเชิงลึกจากไมโครซอฟท์ ซึ่งทำงานอยู่บนแพลตฟอร์มคลาวด์ Microsoft Azure เพื่อสมรรถนะและความยืดหยุ่นสูงสุดในการใช้งานจริง
ด้านนายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า
เราอยู่ในยุคที่ข้อมูลเป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าที่สุดสำหรับทุกองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นในปัจจุบัน สำหรับไมโครซอฟท์เอง เรามุ่งมั่นที่จะผลักดันการใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของทุกภาคส่วน เพื่อให้ทั้งผู้คนทั่วไปและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานหลักต่าง ๆ ได้ยืนหยัดและเดินหน้าปฏิบัติงานต่อไปอย่างปลอดภัย มั่นใจและมีประสิทธิภาพ”
นายยงยุทธ ทรงศิริเดช ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟีดแบค 180 จำกัด กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงฯให้การสนับสนุนในการนำข้อมูลจากหลายแหล่ง หลายรูปแบบ มาผนึกรวมกันให้ผู้ใช้งานได้ทำความเข้าใจ จะช่วยให้สามารถมองเห็นสถานการณ์ตรงหน้าในมุมมองใหม่ ๆ และผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม โครงการนี้นับเป็นการต่อยอดศักยภาพของเราในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้วยข้อมูล โดยตัวระบบแดชบอร์ดเองได้รวบรวมข้อมูลจากทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทานมาไว้ในที่เดียว จึงทำให้ทางสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ได้มองเห็นภาพใหญ่ของสถานการณ์ในประเทศอย่างเท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน และนำไปสู่การวางกรอบแนวทางและนโยบายที่เหมาะสมที่สุด เพื่อนำพาประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด
ปัจจุบัน แพลตฟอร์มข้อมูลนี้มีเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เข้าใช้งานในแต่ละวันมากกว่า 1,500 คน และเก็บรวบรวมข้อมูลครอบคลุมโรงพยาบาลถึง 966 แห่งทั่วประเทศ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนรองรับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อให้ธุรกิจบางประเภทได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งด้วยความมั่นใจมากยิ่งขึ้น และทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับบนเวทีโลกในฐานะชาติที่จัดการกับโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับต้น-สำนักข่าวไทย.