สำนักข่าวไทย 24 ก.ค.–“นพ.ปิยะสกล” แจง 2 รัฐมนตรีสาธารณสุข เข้าใจผิด ไม่ได้ “กำเงิน” 600 ล้านบาทซื้อวัคซีนโควิด-19 แต่เป็นการขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพราะมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด จะให้ความรู้แบบส่งต่อไปช่วยเหลือระดับทวีป หลังทดลองได้ผล ชี้เกิดความยั่งยืนกว่า เผย 600 ล้านบาท ใช้พัฒนาโรงงานวัคซีน ไม่พร้อมรับกับเทคโนโลยี
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวว่าประเทศไทยเตรียมไปเจรจาขอซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ด้วยงบประมาณ 600 ล้านบาท ว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือตอนนี้มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด โดยความร่วมมือกับผู้ผลิตวัคซีนของเขาเองมีการพัฒนาวัคซีนก้าวหน้า มีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จในเร็วๆ นี้ เพราะมีการทดลองในคนกว่า 1,000 คน โดยการฉีดวัคซีนในคนเข็มแรกให้การตอบสนองที่ดีมากร้อยละ 90 มีภูมิต้านทาน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด มีวัตถุประสงค์ว่าหากพัฒนาวัคซีนสำเร็จจะให้คนทั้งโลกได้ใช้วัคซีนนี้ด้วย ด้วยราคาที่ไม่มีกำไร แต่ถ้าผลิตเองคงไม่เพียงพอ จึงมีการพิจารณาโรงงานผลิตวัคซีนในแต่ละทวีปว่ามีที่ไหนมีศักยภาพที่จะผลิตได้ ก็จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ ซึ่งในเอเชียก็ได้ที่อินเดีย
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ในขณะที่ประเทศไทยเราเองก็มีบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่สามารถรองรับการผลิตได้ จึงมีการหารือว่าถ้าเราสามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาได้ก็จะเป็นการผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำเลย ดังนั้น ตนจึงขอให้รัฐบาลเป็นตัวแทนไปเจรจามหาวิทยาลัยออกฟอร์ด เพื่อขอถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้คนไทยผลิต ส่วนงบ 600 ล้านบาท ก็จะใช้เพื่อการพัฒนาบริษัทของคนไทยเพื่อให้มีประสิทธิภาพพอที่จะรองรับกับเทคโนโลยีที่เขาจะให้มา ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม โดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ลงไปตรวจสอบโรงงงานผลิตแล้วคาดว่าจะสามารถให้การรับรองมาตรฐาน GMP ได้ประมาณเดือน ก.ย.นี้
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ในการเจรจานั้น ประเทศไทยเรามีทีมบริษัทสยามซีเมนต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ดังนั้นจะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศไปเป็นผู้เจรจา ทำความยืนยันเพื่อรับเทคโนโลยีมาผลิต ซึ่งอันนี้มีความเป็นได้ที่สุด เพราะทำได้เร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก หากทำสำเร็จ แล้วเราได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมานั้น เราจะสามารถผลิตได้หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน ซึ่งกำลังการผลิตของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะผลิตได้คือ 200 ล้านโดส ถือว่าเป็นปริมาณมากจึงสามารถนำไปช่วยเหลือกลุ่มประเทศในอาเซียนได้อีกด้วย
นพ.ปิยะสกล กล่าวด้วยว่า ส่วนการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย โดยคนไทยนั้น ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยนั้น ก็จะไม่หยุดเดินหน้า รัฐบาลจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน.-สำนักข่าวไทย