กรุงเทพฯ 15 ก.ค. – สมอ.เผย 9 เดือนแรกปีงบ 63 อายัดเหล็กไม่ได้มาตรฐานกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมประกาศบังคับใช้มาตรฐานเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี มอก. 50-2561 มีผล 27 สิงหาคมนี้ ผู้ทำหรือผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าวต้องขออนุญาตจาก สมอ.ก่อน
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 6 กรกฎาคม 2563 สมอ.ได้ยึดอายัดเหล็กไม่ได้มาตรฐานแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท หากเหล็กดังกล่าวถูกนำไปใช้งานจะส่งผลเสียหายต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก จึงขอเตือนไปยังผู้ประกอบการทั้งผู้ทำ ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ให้ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่ 27 สิงหาคมนี้ สมอ.กำหนดให้เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน แผ่นม้วน แผ่นแถบ แผ่นตัด และแผ่นลูกฟูก ได้มีคุณภาพได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 50-2561 ซึ่งผู้ประกอบการที่ทำ หรือนำเข้าสินค้าดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำ หรือนำเข้า เนื่องจากเหล็กชนิดนี้เป็นวัตถุดิบสำคัญที่นำไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องหลากหลายประเภท เช่น หลังคา ผนัง และส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ตัวถังภายนอกของตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ซึ่งการประกาศเป็นสินค้าควบคุมจะสามารถควบคุมให้สินค้ามีมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศให้สามารถแข่งขันได้
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2563 มีผู้นำเข้าเหล็กดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย 117 ราย คิดเป็นน้ำหนักรวมเกือบ 750,000 ตัน มูลค่ากว่า 15,100 ล้านบาท โดยนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนของสินค้าต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งวัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ หากเหล็กดังกล่าวไม่มีมาตรฐานควบคุมคุณภาพ อาจจะส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้งานสินค้าดังกล่าว
ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ทำเหล็กชนิดนี้ 11 ราย และในจำนวนนี้มี 9 ราย ยื่นขอใบอนุญาตตามมาตรฐานใหม่จาก สมอ.แล้ว จึงขอเตือนไปยังผู้ประกอบการที่นำเข้าเหล็กดังกล่าวให้มายื่นขอใบอนุญาตก่อนวันที่มาตรฐานจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้การค้าขายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และขอเตือนผู้ประกอบการที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมายระหว่างที่มาตรฐานยังไม่มีผลบังคับใช้เร่งนำเหล็กดังกล่าวที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศเป็นปริมาณมากว่าจะเข้าตรวจสอบโดยละเอียด และจะดำเนินการให้ถึงที่สุดกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย .-สำนักข่าวไทย