กรุงเทพฯ 21 เม.ย. – ซิน เคอ หยวน ส่งทนายแก้ต่างแทนผู้บริหาร ปฏิเสธไม่ใช่จีนเทา ยันผลิตเหล็กตามมาตรฐาน มอก. ที่ผ่านมาไม่เคยถูกร้องเรียนเหล็กตกมาตรฐาน เผยปฏิบัติตามคำสั่งกรมโรงงานทุกอย่าง ไม่เคยฝ่าฝืน แต่กลับถูกสั่งปิด และถูกเพิกถอน BOI ชั่วคราว ลั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม ชี้การเพิกถอน BOI ทำเสียบรรยากาศการลงทุน ส่วนเรื่องการปลอมใบกำกับภาษี ทนายเผยคดีอยู่ในกระบวนการศาล โดยซิน เคอ หยวน เป็นฝ่ายฟ้องกรมสรรพากร ล่าสุดเตรียมยื่นอุทธรณ์ BOI
นายปิยะพงศ์ คงมะลวน, นายสุรศักดิ์ วีระกุล และนายปัทมากร ภิญโญชัยพลกุล ทนายความ ตัวแทน บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ตั้งโต๊ะแถลงข้อเท็จจริงปมถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นที่ผลิตขึ้นโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. โดยนายปิยะพงศ์ ตัวแทนทีมทนายความฯ เปิดเผยว่า หลังการณ์เหตุอาคาร สตง.ถล่ม กระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าเก็บตัวอย่างเหล็กชนิดต่าง ๆ ไปตรวจ โดยผลการทดสอบจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยที่ออกมานั้น ทำให้เหล็กข้ออ้อยของบริษัทถูกเข้าใจว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. ซึ่งส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหายมาก และบริษัทตกเป็นจำเลยสังคม จากการชี้นำสังคมให้เข้าใจว่า หนึ่งในสาเหตุหลักของการตึกถล่มครั้งนี้ มาจากเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน และมาจากบริษัท ซิน เคอ หยวนฯ ที่มีสัญลักษณ์ ที่เหล็กเส้นว่า SKY ส่วนที่ออกมาชี้แจงช้าเพราะทางบริษัทเห็นว่า การชี้แจงไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคม และอาจถูกมองว่าเป็นการแก้ตัวมากกว่า และขณะนี้หลายฝ่ายอยู่ระหว่างการหาสาเหตุที่ทำให้อาคาร สตง.ถล่ม จึงเชื่อว่าในระยะเวลาอันใกล้ ข้อเท็จจริงจะค่อย ๆ ปรากฏ และว่าที่ผ่านมาก็มีนักวิชาการหลายคน ออกมาพูดว่า เหล็กเป็นสาเหตุส่วนน้อยที่ทำให้อาคาร สตง.ถล่ม จึงเชื่อว่าสาเหตุอาจมาจากการออกแบบ หรือ มาจากการลดสเปควัสดุก่อสร้าง
บริษัท ซิน เคอ หยวน ได้รับ BOI และได้มาตรฐาน ISO 9001 กำหนด ซึ่งเป็นไปตามที่ BOI กำหนด ส่วนความพยายามชี้นำว่า ซิน เคอ หยวน เป็นบริษัทจีนเทานั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะประกอบธุรกิจสุจริตมาโดยตลอด ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการเสียภาษีถูกต้อง โดยในช่วง 5 ปีย้อน (ปี 2562-2566) หลังบริษัทเสียภาษีมากถึง 856 ล้านบาท ดังนั้นจึงไม่ใช่จีนเทา ที่ทำธุรกิจโดยที่ไทยไม่ได้ประโยชน์ และที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยถูกร้องเรียนเรื่องเหล็กไม่มีมาตรฐาน ส่วนการถูกกรมโรงงานสั่งหยุดประกอบกิจการชั่วคราว เป็นผลสืบเนื่องจากเหตุถังแก๊สระเบิดระหว่างเคลื่อนย้าย จนนำไปสู่การนำตัวอย่างเหล็กไปทดสอบมาตรฐานเหล็ก ช่วงปลายปี 2567 ที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย โดยมีรายงานผล ว่า มีเหล็กไม่ผ่านมาตรฐานเรื่องค่าโบรอน ทนายความอ้างว่า ผลการทดสอบดังกล่าว ไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้โดยชอบด้วยกฏหมาย เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบของสถาบันเหล็กฯ ไม่สามารถตรวจวัดค่าได้
ส่วนตัวอย่างเหล็ก ที่ สมอ.เก็บจากกองซากตึก สตง.ไปตรวจสอบ และพบเหล็กตกมาตรฐาน 3 ขนาด คือ เหล็กข้ออ้อย 12 mm – 20mm และ 32 mm ไม่ผ่านมาตรฐาน นั้น ตัวแทนบริษัทอ้างว่า การทดสอบดังกล่าวไม่เป็นธรรม เนื่องจากได้เก็บตัวอย่างเหล็กที่ผ่านการใช้งานไปแล้ว โดยการทดสอบค่ามาตรฐานต่าง ๆ ของเหล็กจะใช้เหล็กใหม่ แต่เหล็กที่นำไปตรวจนั้น ผ่านการใช้งาน และถูกกระทำมาแล้ว ส่วนกรณีฝุ่นแดงที่ตรวจพบภายในโรงงานว่า มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ ตัวแทนบริษัท ชี้แจงว่า ที่โรงงานเรียกว่าเป็นฝุ่นดำ ส่วนปริมาณที่เพิ่มขึ้นนั้น อาจมาจากความผิดพลาดของระบบออนไลน์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทางบริษัทได้ชี้แจงรายละเอียดให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองแล้ว
ส่วนกรณีกรมสรรพากร ส่งข้อมูลให้ดีเอสไอ ระบุ ซิน เคอ หยวน ส่งใบกับกับภาษีปลอมให้นั้น ตัวแทนบริษัทระบุ เรื่องนี้เป็นคดีอยู่ในระหว่างชั้นศาล โดยบริษัทเป็นผู้เสียหาย แต่ขอไม่ให้รายละเอียด
เมื่อถามถึงกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เซ็นสั่งให้ยกเลิก เหล็ก Induction Furnace หรือ IF ประกอบการการยกเลิก BOI ทางบริษัทจะดำเนินการอย่างไรต่อ ตัวแทนบริษัทระบุว่า บริษัท รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ผ่านมาทำตามกฎหมายทุกอย่าง และส่วนตัวมองว่า การตรวจสอบของหน่วยงานรัฐลักษณะดังกล่าว ทำให้บรรยากาศลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเปลี่ยนไป ส่วนบริษัทจะตัดสินใจถอนการลงทุนจากประเทศไทยหรือไม่ ทางทีมกฎหมายไม่สามารถตอบแทนบริษัทได้ บริษัทเตรียมยื่นอุทธรณ์ ประเด็นถอนสิทธิ์บีโอไอชั่วคราวเร็ว ๆ นี้
อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงของการแถลงข่าว สื่อมวลชนพยายามจี้ถามทางตัวแทนบริษัทซิน เคอ หยวน เกี่ยวกับผลทดสอบเหล็กก่อสร้างตึก สตง. โดยสถาบันเหล็กฯ ซึ่งตกมาตรฐาน แต่กลับไม่ได้คำตอบที่เป็นรายละเอียดในเชิงลึก เช่นเดียวกับประเด็นอื่น ๆ. -517-สำนักข่าวไทย