กรุงเทพฯ 9 ก.ค. – กรมส่งเสริมสหกรณ์เสนอ ครม.พิจารณาร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ ป้องกันสหกรณ์ปล่อยสินเชื่อเกินตัว ลดความเสี่ยงทางการเงิน กำชับห้ามนำประกันชีวิตและฌาปนกิจมาเป็นหลักประกัน
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) เปิดเผยว่า เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ เพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ ประกอบด้วย เรื่องการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ…. และเรื่งการกำกับการกระจุกตัวธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ… ออกตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ.2562 ซึ่งผ่านการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียแล้ว
สำหรับวัตถุประสงค์ที่ต้องออกกฎกระทรวงดังกล่าว คือ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนปล่อยสินเชื่อแก่สมาชิกมากเกินควรและมีการกู้ยืมเงินและฝากเงินระหว่างสหกรณ์ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าบางสหกรณ์นำเงินไปฝากหรือให้กู้กระจุกตัวสหกรณ์อื่นที่มีชื่อเสียงและให้ผลตอบแทนสูง อีกทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่งปล่อยเงินกู้ให้สมาชิก โดยกำหนดงวดชำระหนี้ถึง 400 – 600 งวด นอกจากนี้ บางแห่งให้วงเงินกู้สูงเกินความสามารถชำระหนี้ของสมาชิก ส่งผลต่อการหักชำระหนี้ของสมาชิกบางรายหักเหลือไม่ถึงร้อยละ 10 ของเงินเดือน ไม่เหลือเงินใช้จ่ายในครอบครัว จะกลายเป็นมีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนการให้กู้ยืมและรับฝากเงินไขว้กันไปมามีมูลค่าสูงถึง 721,427 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกรรมของสหกรณ์
ทั้งนี้ ในร่างกฎกระทรวงการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ… มีด้วยกัน 5 หมวดและบทเฉพาะกาล สาระสำคัญ คือ สหกรณ์ให้เงินกู้แก่สมาชิกได้ 3 ประเภท คือ เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน งวดชำระหนี้ไม่เกิน 12 งวด เงินกู้สามัญเพื่อใช้จ่ายที่จำเป็น งวดชำระหนี้ ไม่เกิน 150 งวด เงินกู้พิเศษเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพหรือความมั่นคงและคุณภาพชีวิต งวดชำระหนี้ไม่เกิน 360 งวด ทั้งนี้ การกำหนดงวดการชำระหนี้เสร็จผู้กู้ต้องอายุไม่เกิน 75 ปี เว้นแต่การกู้ยืมเงินนั้นเมื่อรวมทุกสัญญาแล้วไม่เกินค่าหุ้น และเงินฝากที่ผู้กู้มีอยู่กับสหกรณ์ กรณีที่มีการทำสัญญาเงินกู้ใหม่สำหรับเงินกู้ประเภทเดียวกันหรือมีการรวมสัญญาจะต้องชำระหนี้ตามสัญญาเดิมมาแล้วดังนี้ คือ กรณีเงินกู้สามัญต้องชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 งวด เงินกู้พิเศษไม่น้อยกว่า 12 งวด
สำหรับหลักประกันเงินกู้สามัญสามารถใช้สมาชิกสหกรณ์หรือหลักทรัพย์เป็นหลักประกันได้ แต่ห้ามนำเงินประกันชีวิตและเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือเงินอื่นที่มีลักษณะเดียวกันมาพิจารณาเป็นหลักประกัน ส่วนเงินกู้พิเศษให้ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน โดยใช้ราคาประเมินจากผู้ประเมินทรัพย์สินที่ได้รับอนุญาตหรือราคาประเมินของรัฐ โดยเกณฑ์การพิจารณาให้เงินกู้สมาชิก ผู้กู้ต้องเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน พิจารณาพฤติกรรมและความสามารถในการชำระหนี้ ส่วนหลักประกันตามเกณฑ์การให้เงินกู้สามัญและเงินกู้พิเศษนั้น หากสหกรณ์ให้กู้ 1 ล้านบาทขึ้นไปต้องใช้ข้อมูลเครดิตบูโรจากบริษัทข้อมูลแห่งชาติ จำกัด มาประกอบการพิจารณาด้วย และหากผู้กู้มีรายได้รายเดือนจะต้องมีเงินคงเหลือสุทธิ แต่ละเดือนหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตลอดอายุสัญญา
ส่วนกรณีการให้เงินกู้แก่สหกรณ์อื่น จะต้องพิจารณาคุณสมบัติของสหกรณ์ผู้กู้ในด้านความมั่นคงทางการเงินมีความสามารถในการชำระหนี้ มีการบริหารจัดการที่ดี และปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ของสหกรณ์อย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 60 งวด หลักประกันเงินกู้ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้ราคาประเมินจากผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินรับอนุญาตหรือราคาประเมินของราชการในขณะทำสัญญากู้
นอกจากนี้ ในร่างกฎกระทรวงยังกำหนดให้ต้องมีการสอบทานธุรกรรมด้านการให้กู้ ได้แก่ สหกรณ์ขนาดใหญ่ต้องสอบทานกระบวนการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมด้านสินเชื่อตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นกระบวนการโดยผู้สอบทานที่เป็นอิสระ อัตราการสอบทานนั้นกำหนดให้ลูกหนี้ที่เป็นสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ต้องสอบทานอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 1 ปีบัญชี ส่วนลูกหนี้ที่เป็นสมาชิกต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนยอดคงค้างของลูกหนี้ แต่ไม่เกิน 200 ราย ทั้งนี้ การสอบทานดังกล่าวต้องครอบคลุมลูกหนี้รายใหญ่ 100 รายแรก และครอบคลุมเงินกู้ทุกประเภทและให้ส่งแผนสอบทานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการให้ความเห็นชอบเสร็จภายใน 90 วัน นับจากวันสิ้นบัญชี ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้นิติกรรมใดที่มีก่อนกฎกระทรวงนี้ให้ดำเนินการต่อไปจนสิ้นอายุนิติกรรม เว้นแต่การกู้เพื่อรวมสัญญาให้เป็นตามกฎกระทรวงใหม่ กรณีสหกรณ์ขนาดใหญ่การสอบทานให้ดำเนินการตามกฎกระทรวงใหม่ภายใน 2 ปี
นายพิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ร่างกฎกระทรวงการกำกับการกระจุกตัวธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ… นั้น กำหนดให้ในฐานะเจ้าหนี้ ทางสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จะฝากเงินหรือให้กู้เงินแก่สหกรณ์ทุกประเภทหรือชุมนุมสหกรณ์ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของทุนเรือนหุ้นรวมกันทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ฝากเงิน หรือให้กู้เงิน แต่ไม่นับรวมการฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิก ส่วนในฐานะลูกหนี้จะก่อหนี้และภาระผูกพัน หรือกู้เงินหรือรับฝากเงินจากสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ก่อหนี้และภาระผูกพัน ยกเว้นสหกรณ์ก่อหนี้และภาระผูกพันกับชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิกรวมกันแล้ว ทำได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของทุนเรือนหุ้นร่วมกับทุนสำรองของสหกรณ์ผู้ก่อหนี้และภาระผูกพัน ทั้งนี้ การก่อหนี้และภาระผูกพัน การให้กู้ และการฝากเงินของสหกรณ์หรือชุมนุมสหกรณ์ที่ทำนิติกรรมก่อนกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้ดำเนินการไปตามสัญญาเดิมจนสิ้นอายุสัญญา.-สำนักข่าวไทย