กรุงเทพฯ
7 ก.ค.- บินระหว่างประเทศยังเดี้ยง!! กพท. รับความหวังจับคู่บิน
กับประเทศสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นยังเหลว หลังประเทศที่เจรจาไว้ ตบเท้าระบาดระลอก
2 ด้าน “ศักดิ์สยาม”ย้ำจะเปิดบินระหว่างประเทศได้ ต้องคำนึงถึงมาตรการสาธารณสุขเป็นหลัก
นายศักดิ์สยาม
ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม
เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบายชัดเจนที่ต้องคำนึงถึงมาตรการสาธารณสุข
ของกรมควบคุมโรค เป็นหลัก รวมถึงความสามารถในการสร้างและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19
เพื่อนำมาประกอบในการพิจารณาเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศ ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ หลายสายการบินของไทย ที่ทำการบินระหว่างประเทศ ได้ออกมาส่งสัญญาณ เตรียมพร้อมที่จะเปิดบินเส้นทางระหว่างประเทศ
ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเรื่องนี้ขอให้รอนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล และ กพท.ก่อนเช่นกัน
ด้านนายจุฬา
สุขมานพ ผู้อำนวยการ สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ
กพท.กล่าวถึงประเด็นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินไทย
ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเดิมที คาดหวังว่า เดือนสิงหาคมนี้ จะสามารถคลายล็อก เริ่มการให้บริการเดินทางโดยสารอากาศยานระหว่างประเทศได้ ในลักษณะของTravel Bubble หรือ มาตรการที่หลายประเทศจะร่วมมือกัน
เปิดให้นักท่องเที่ยว ที่เป็นประชากรของ “ประเทศในกลุ่ม” เดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศเหล่านี้ได้อย่างเสรี
แต่ยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศนอกกลุ่ม โดยเริ่มจากการจับคู่ประเทศในภูมิภาค ที่การระบาดลดน้อยลง หรือสถานการณ์ดีขึ้นเช่นเดียวกับไทย
โดยที่ผ่านมาได้เริ่มมีการเจรจาไปกับหลายประเทศ
โดยนายจุฬา
ระบุว่า แม้จะมีการเริ่มเจรจาไปแล้วกับหลายประเทศ
เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี แต่สถานการณ์ล่าสุด
ประเทศเหล่านี้ประสบปัญหาการระบาดระลอก 2 ไปแล้ว ทำให้แนวทางที่จับคู่การบิน
คงต้องชะลอออกไปไม่มีกำหนด และยังต้องจับตาสถานการณ์การระบาดในประเทศต่างๆ ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้ด้วย
ผู้อำนวยการ
กพท.ระบุด้วยว่า สิ่งสำคัญในการประคองธุรกิจการบินของไทยขณะนี้ คือ
การบินภายในประเทศ ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการสายการบิน ของไทย
โดยขณะนี้ยอมรับว่า ความต้องการใช้บริการในการเดินทางของคนไทย
สำหรับจุดบินในจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น
หลังสายการบินทยอยเปิดเส้นทางบิน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้จัดแคมเปญ
เพื่อกระตุ้นการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด
เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และเกี่ยวเนื่องอื่นๆ รวมทั้งในอนาคต
ต้องจับตามาตรการอัดฉีด
ภาคการท่องเที่ยวของภาครัฐ ที่จะออกมาช่วยเสริมให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น โดยหลังจากสถานการณ์ปัญหาค่าครองชีพ ของประชาชนเริ่มดีขึ้น เชื่อว่า
การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวก็จะเริ่มกลับมามีมากขึ้น และธุรกิจการบิน
และภาคการขนส่ง ก็จะได้รับอนิสงค์ตามมา.-สำนักข่าวไทย